คู่มือสมัครงานและสัมภาษณ์งานกับบริษัทบิ๊กโฟร์ ฉบับสมบูรณ์

การสัมภาษณ์งานสุดเข้ม

การได้งานในบริษัทบิ๊กโฟร์นั้นเปรียบเสมือนการคว้าโอกาสทองในสายอาชีพ หลายคนใฝ่ฝันอยากเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรชั้นนำเหล่านี้ แต่ด้วยความยากและการแข่งขันที่สูง จึงทำให้หลายคนท้อแท้ แขนขาอ่อนแรง

แต่ไม่ต้องกังวลไป! เพราะในบทความนี้ ผมในฐานะคนที่เคยสมัครงานและสัมภาษณ์งานกับบริษัท KPMG และ Deloitte จะมาเผยเคล็ดลับและขั้นตอนครบถ้วน สำหรับการสมัครงานและสัมภาษณ์งานบริษัทบิ๊กโฟร์ เตรียมตัวให้พร้อม แล้วไปคว้าชัยชนะกันเลย!

ขั้นตอนที่ 1: รู้จักตัวเองและบิ๊กโฟร์

ก่อนอื่น คุณต้องรู้จักตัวเองให้ดีเสียก่อน ว่ามีความสนใจ ทักษะ และประสบการณ์ตรงกับสายงานที่บิ๊กโฟร์ ต้องการหรือไม่

ข้อมูลที่ควรรู้:

  • สายงานหลัก: บริษัทบิ๊กโฟร์ มักเปิดรับสมัครงานในสายงานหลัก เช่น ผู้สอบบัญชี ไอทีออดิท ผู้ตรวจสอบภายใน ที่ปรึกษาทางการเงิน กฎหมาย และภาษี
  • คุณสมบัติเบื้องต้น: โดยทั่วไป มักจะรับคนจบปริญญาตรี (เกียรตินิยมจะได้เปรียบ) ในสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น พาณิชยศาสตร์และการบัญชี การเงิน เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
  • ทักษะที่จำเป็น: ทักษะการวิเคราะห์ การคิดเชิงตรรกะ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม ความฉลาดทางอารมณ์ การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการใช้ Prompt Engineering เพื่อสั่งการ Generative AI

ขั้นตอนที่ 2: เตรียมตัวสมัครงาน

เมื่อคุณมั่นใจแล้วว่าตรงกับคุณสมบัติ เตรียมตัวสมัครงานได้เลย!

ขั้นตอนย่อย:

  • อัปเดตประวัติย่อ (CV) และจดหมายสมัครงาน: เขียน CV และจดหมายสมัครงานให้น่าสนใจ เน้นทักษะและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง ปรับแต่งให้ตรงกับตำแหน่งงานที่สมัคร หลายคนชอบตกม้าตายเพราะไม่ยอมใส่ผลงานเด่นหรือ Achievements ตอนเรียนมหาวิทยาลัยหรือที่ทำงานเก่า ลงไปใน CV
  • เตรียมเอกสาร: เตรียมเอกสารครบถ้วน เช่น ใบสมัคร ประกาศนียบัตร ผลการเรียน จดหมายแนะนำ ฯลฯ
  • สมัครงานผ่านเว็บไซต์: บริษัทบิ๊กโฟร์ มักเปิดรับสมัครงานผ่านเว็บไซต์ขององค์กร ศึกษาข้อมูลและสมัครให้ตรงกับตำแหน่งที่ต้องการ

ตัวอย่างเว็บไซต์:

ขั้นตอนที่ 3: สอบวัดระดับภาษาอังกฤษ

เมื่อผ่านด่านการคัดเลือก CV คุณจะได้รับเชิญให้ทำข้อสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ จากบทความเปรียบเทียบจุดเด่นของบริษัทบิ๊กโฟร์ในไทย ผมเคยเกริ่นไว้แล้วว่า บิ๊กโฟร์แต่ละที่ใช้ข้อสอบวัดระดับภาษาอังกฤษไม่เหมือนกัน เช่น KPMG ใช้ข้อสอบ Oxford Placement Test ซึ่งยากพอสมควร ส่วน PwC ใช้ข้อสอบของบริษัทและมีการให้เขียน Essay 2ข้อเป็นภาษาอังกฤษด้วย ฉะนั้น เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม

ขั้นตอนที่ 4: เตรียมตัวสัมภาษณ์

เมื่อผ่านด่านการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษแล้ว คุณจะได้รับเชิญเข้าสัมภาษณ์ เตรียมตัวให้พร้อม!

  • สัมภาษณ์เบื้องต้น (Screening Interview)
    • อาจเป็นการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์หรือวิดีโอคอลโดยฝ่ายบุคคล
    • มุ่งเน้นการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น ประสบการณ์ และความสนใจในตำแหน่งงาน
  • สัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview)
    • มีหลายรอบ รอบแรกจะเป็นการสัมภาษณ์เดี่ยวโดยฝ่ายบุคคล
      • มีการให้แนะนำตัวเป็นภาษาอังกฤษ ควรเตรียมคำตอบมาจากที่บ้าน เนื้อๆเน้นๆ ความยาวไม่เกิน1นาที
      • คำถามทดสอบทัศนคติในการทำงาน เช่น คุณมองตัวเองยังไงในอีก5ปีข้างหน้า ห้ามตอบว่ามีแผนจะลาออกไปเรียนต่อปริญญาโทหรือลาออกไปเปิดบริษัทเด็ดขาด เพราะหล่อนจะถูกเตะออกจากห้องสัมภาษณ์ทันที หรืออาจเจอถามว่า ปัญหาที่ท้าทายที่สุดในการทำงานในที่ทำงานเก่า/ตอนเรียนมหาวิทยาลัยคืออะไร หรือข้อเสียของคุณคืออะไร
      • ในตอนท้ายของการสัมภาษณ์เดี่ยว ฝ่ายบุคคลมักจะถามว่า มีคำถามอะไรมั้ย ห้ามตอบว่าไม่มี และไม่ควรถามเรื่องเงินเดือน การไม่มีคำถามอะไรจะถูกฝ่ายบุคคลตีความว่า เราไม่สนใจที่จะทำงานกับบริษัทนี้เลย
    • รอบที่2 จะเป็นการสัมภาษณ์เดี่ยวโดยพี่อินชาจ เมเนเจอร์ หรือพาร์ทเนอร์
      • มีคำถามเชิงเทคนิค หรือความรู้ในสายอาชีพ เช่น มาตรฐานการบัญชีที่เพิ่งออกใหม่ หรือข่าวที่บริษัททำการทุจริตแต่ทำไมผู้สอบบัญชีถึงตรวจไม่เจอ
      • คำถามวัดความรู้ทั่วไป เช่น ผู้สอบบัญชีจะโดน Generative AI แย่งงานมั้ย ให้ตอบคำถามพร้อมเหตุผลประกอบ
    • รอบที่3 จะเป็นการสัมภาษณ์แบบกลุ่ม จะมีตัวแทนฝ่ายบุคคล และฝั่งพี่อินชาจ เมเนเจอร์ ไดเรกเตอร์ หรือพาร์ทเนอร์เข้ามาสังเกตการณ์ เค้าจะมอบหมายให้เราไปเข้ากลุ่มย่อย 4-5คน แล้วบริษัทจะมอบโจทย์ธุรกิจให้ช่วยกันขบคิด และให้ออกมานำเสนอหน้าห้องในระยะเวลาจำกัด
      • ผู้สังเกตการณ์จะสังเกตบุคคลิกภาพของทุกคนในกลุ่ม เช่น เป็นคนชอบบงการคนอื่น ชอบพูดแทรกคนอื่นหรือเป็นคนไม่คุยกับใครเลยหรือเปล่า ถ้าใช่ ก็มีโอกาสสูงที่จะโดนเตะออกจากห้องสัมภาษณ์แน่นอน
      • คำตอบของกลุ่มที่เราตอบ ไม่มีอะไรที่ผิดหรือถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันทำให้เห็นภาพรวมว่าเรามีความรู้ในเชิงธุรกิจ หรือทักษะในการทำงานเป็นทีมมากน้อยแค่ไหน

ขั้นตอนที่ 5: การเจรจาเงื่อนไขการจ้างงาน

  • รอผลสัมภาษณ์ไม่เกิน10วันทำการ ถ้าสัมภาษณ์ไม่ผ่านบริษัทมักจะส่งอีเมลมาแจ้งเรา
  • หากผ่านสัมภาษณ์ บริษัทจะติดต่อเราทางโทรศัพท์เพื่อเสนอเงื่อนไขการจ้างงาน
  • ควรศึกษาเงื่อนไขอย่างละเอียด และเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เหมาะสมสำหรับทั้งสองฝ่าย เช่น ฐานเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ

ขั้นตอนย่อย:

  • ศึกษาข้อมูล: ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทบิ๊กโฟร์ ตำแหน่งงานที่สมัคร และเตรียมคำถามที่น่าสนใจ
  • ฝึกฝนการตอบคำถาม: ฝึกฝนการตอบคำถามที่พบบ่อย เช่น “แนะนำตัวหน่อย” “ทำไมถึงอยากทำงานที่นี่” “จุดแข็งและจุดอ่อนของคุณคืออะไร”
  • เตรียมชุดสัมภาษณ์: เลือกชุดที่สุภาพ เรียบร้อย แสดงบุคลิกภาพที่ดี
  • ฝึกการนำเสนอ: เตรียมตัวนำเสนอผลงาน ประสบการณ์ และความคิดสร้างสรรค์
  • รักษาบุคลิกภาพ: แสดงความมั่นใจ มีไหวพริบ สุภาพ และตรงต่อเวลา

เพิ่มเติม:

  • ศึกษาแนวทางการสัมภาษณ์ของแต่ละบริษัทบิ๊กโฟร์
  • เตรียมคำถามที่อยากถามผู้สัมภาษณ์
  • ฝึกภาษาอังกฤษให้คล่องแคล่ว

7เทคนิคสอบสัมภาษณ์แบบกลุ่มบริษัทBig4 (ตอน1) https://youtu.be/4-M49Yn-EoY?si=Dk9eMX3FTgviPnb6

อีบุ๊คคู่มือออดิทมือใหม่

อีบุ๊คไอทีออดิท101

อีบุ๊คตรวจสอบภายใน101

เป้ แนะแนว
เป้ แนะแนว

เป้ แนะแนวจบปริญญาตรีจากคณะบัญชี จุฬาฯ มีประสบการณ์ทำงานด้านไอทีออดิทมากว่าสิบปีในบริษัทบิ๊กโฟร์อย่าง KPMG กับ Deloitte จนเป็น Certified Information Systems Auditor (CISA) เคยเป็นทหารเกณฑ์ ปัจจุบันเป็นเน็ตไอดอลช่องติ๊กต่อกเป้ แนะแนวการศึกษาและอาชีพ และเจ้าของเพจรีวิวซีรีส์เกาหลีอย่าง Netflix Addict

Articles: 63

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *