การเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต หรือที่รู้จักกันในชื่อ CPA เต็มไปด้วยความท้าทายและความกดดัน หลายคนทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจเพื่อคว้า CPA มาให้ได้ ส่วนใหญ่ต้องไปติวเพิ่มเพื่อสอบทั้ง 6 วิชาให้ผ่าน แถมต้องเก็บชั่วโมงสอบบัญชีให้ครบ3,000ชั่วโมงภายใน3ปี
เนื่องจากอาชีพออดิทต้องกลับบ้านตี2 นานต่อเนื่องกันนานเป็นเดือนโดยเฉพาะในช่วงหน้างบ มันทำให้คนที่ทำอาชีพนี้ พักผ่อนไม่เพียงพอ แถมยังมีความเครียดสะสมจากงานอีกด้วย ส่วนออดิทที่มีแฟน บางคนต้องมาทะเลาะกับแฟนเพราะไม่มีเวลาว่างให้แฟน แต่หลังจากผ่านพ้นบททดสอบสุดหินและได้ CPA มาครองแล้ว หลายคนก็เริ่มโหยหาเส้นทางใหม่ที่สดใส เพื่อหลีกหนีจากวงจรนรกอันนี้ สังเกตว่าคนที่อยู่ยาวจนได้เป็นออดิทพาร์ทเนอร์ในสำนักงานบัญชี มีจำนวนน้อยมาก ส่วนใหญ่คนที่ได้ CPA พอโปรโมตเป็นเมเนเจอร์แล้ว แป๊บๆ ก็ลาออก ไปหางานใหม่
และต่อไปนี้คือ “อาชีพหนีตายยอดฮิต” ที่เหล่า CPA นิยมเลือกทำ หลังจากได้ CPA มาแล้ว
1. ออดิท/ที่ปรึกษาทางภาษี (Tax Auditor/ Tax Consultant):
เนื่องจากในบริษัทบิ๊กโฟร์มีบริการที่หลากหลาย ออดิทสามารถทำเรื่องย้ายแผนกจากแผนกสอบบัญชี ไปอยู่แผนกที่ปรึกษาทางภาษีได้สบายๆ ผ่านโปรแกรม Internal Transfer ที่ฝ่ายบุคคลชอบส่งเมลมาชวนย้ายแผนกเป็นพักๆ
หลังจากที่ได้ CPA แล้ว บางคนตัดสินใจไปสอบวุฒิบัตร TA (Tax Auditor) ด้วย เพราะสอบง่าย ไม่ต้องมานั่งเก็บชั่วโมงทำงานเหมือน CPA แถมยังมีวิชาสอบแค่ 3 ตัว การมี CPA ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับอาชีพนี้ แต่ถ้ามีวุฒิบัตร TA ด้วย ถือว่าเป็นเสือติดปีกเลยทีเดียว
ฐานเงินเดือนของอาชีพนี้น้อยกว่าอาชีพออดิทในตำแหน่งเดียวกันเพียงเล็กน้อย หลายคนจึงตัดสินใจกัดฟันถูกลดเงินเดือนเพื่อแลกกับ work life balance ที่ดีกว่า
2. ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน (Chief Financial Officer – CFO):
ด้วยทักษะด้านบัญชี การเงินและการวิเคราะห์ที่สั่งสมมาจากการเป็น CPA ในตำแหน่งเมเนเจอร์ ทำให้คนเหล่านี้เป็นที่ต้องการตัวในบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหุ้นไทยหรือ Listed Companies ในตำแหน่ง CFO
สิ่งที่น่าสนใจคือ คุณสมบัติของ CFO ที่บริษัทเหล่านี้ต้องการ ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องจบปริญญาโท แต่ต้องมี CPA เป็นอย่างน้อย เงินเดือนเริ่มต้นของ CFO ในบริษัทยักษ์ใหญ่ อาจสตาร์ทที่ 2-3 แสนบาทเลยทีเดียว
เนื่องจากคนเหล่านี้เคยดีลงานกับ CFO มาก่อนในฐานะออดิท พอตัวเองได้เป็น CFO ที่จะต้องถูกออดิทมาตรวจแล้ว มันเหมือนไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ หมายความว่า ต่างฝ่ายที่ต่างยังไม่อ้าปาก ก็เห็นลิ้นไก่กันแล้ว รู้ทันกันทุกดอก ถ้าจะมาเหลี่ยมใส่กันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน 555
3. ไอทีออดิท (IT Auditor/ IT Internal Auditor):
เนื่องจากอาชีพไอทีออดิทสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ทำให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าอาชีพผู้สอบบัญชี และด้วยธรรมชาติของคนในแผนกไอทีที่มีนิสัยชิลกว่าคนในแผนกบัญชี ทำให้หลายคนตัดสินใจตัดวงจรความวุ่นวาย ไปโอบกอดกับสิ่งที่สบายใจมากกว่า ตำแหน่งงานไอทีออดิทมีทั้งในบริษัทบิ๊กโฟร์ และ Mid-tier Firm ต่างๆ ส่วนฐานเงินเดือนจะน้อยกว่าออดิทในตำแหน่งเดียวกันเพียงเล็กน้อย
การสอบวุฒิบัตร CISA จึงเป็นสิ่งจำเป็นหากอยากเลื่อนขั้นขึ้นไปเป็นตำแหน่งเมเนเจอร์ในสายงานนี้ และบางคนเลือกที่จะไปสมัครงานเป็น IT Internal Auditor ใน Listed Companies ที่อยู่ภายใต้ฝ่ายตรวจสอบภายในของบริษัท
4. ผู้ตรวจสอบภายใน (Internal Auditor):
หนึ่งในอาชีพที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากที่สุดในบริษัทคืออาชีพผู้ตรวจสอบภายใน เพราะขอบเขตการตรวจสอบกว้างมาก ผู้ตรวจสอบภายในที่มีวุฒิบัตร CIA จะเป็นที่ต้องการตัว และเป็นใบเบิกทางสู่ตำแหน่งงานผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบภายในเช่นกัน แน่นอนว่าอาชีพนี้ไม่ต้องกลับบ้านตี2 ติดกันนานเป็นเดือนเหมือนอาชีพออดิท มันจึงเป็นเหมือนสวรรค์ที่ CPA หลายคนถวิลหา
5. ผู้ประกอบการ (Entrepreneur):
ทักษะการจัดการ วิเคราะห์ และแก้ปัญหาของ CPA ล้วนเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ ออดิทหลายคนอยากเป็นนายตัวเองจึงตัดสินใจลาออกไปเปิดสำนักงานบัญชีเป็นของตัวเอง บางคนมีรายได้จากการรับเซ็นงบเดือนนึงหลายล้านบาท มากกว่าตอนเป็นลูกจ้างหลายสิบเท่าก็มี ส่วนบางคนทำการตลาดไม่เก่งก็อาจจะแค่พออยู่ได้ แต่ยังไงมันก็ดีกว่าการไปเป็นลูกจ้างอยู่แล้ว
6. นักลงทุน (Investor):
ด้วยความรู้และประสบการณ์ทางด้านการเงิน มี CPA จำนวนนึงตัดสินใจผันตัวเองไปเป็นนักลงทุน สามารถนำความรู้ด้านการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงมาใช้ในการตัดสินใจลงทุน เช่น นักลงทุนหุ้นคุณค่า (Value Investor) ที่ใช้โมเดล Discounted Cashflow (DCF) มาช่วยประเมินมูลค่าหุ้นของกิจการว่าหุ้นตัวนี้ถูกหรือแพง หรือนักลงทุนแนวเทคนิคอลที่ใช้ความรู้ในการทำ money management เพื่อแบ่งไม้ซื้อหุ้น หรือการคำนวณ Risk vs. Reward ก่อนการซื้อหุ้น หรือใช้อินดิเคเตอร์ช่วยตัดสินใจซื้อ-ขายหุ้น หรือการจัดพอร์ตหุ้นตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้
7. อาชีพสาย Data:
เนื่องจากการมาของ Generative AI และ Big Data มันทำให้อาขีพสาย data กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ทักษะและความรู้ของ CPA จึงเป็นที่ต้องการอย่างมากในอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะ CPA ที่สามารถใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างคล่องแคล่ว แต่อาจต้องไปเรียนเขียนโปรแกรม หรือเรียนวิธีการใช้งานโปรแกรม Power BI หรือ Microsoft Excel VBA เพิ่มเติม
CPA สามารถทำงานในสาย Data ได้หลากหลาย เช่น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และนักวิเคราะห์ข้อมูล
8. อาจารย์มหาลัย:
หากมีความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสม CPA เราสามารถไปสมัครเป็นอาจารย์สอนวิชาบัญชีหรือวิชาที่เกี่ยวข้องในคณะบัญชี การแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้กับนักศึกษา เป็นสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจและเติมเต็มชีวิต แต่การจะเป็นอาจารย์มหาลัยได้ก็ควรจะมีปริญญาโทและปริญญาเอกในคณะบัญชี ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติขั้นต่ำไปแล้วในมหาลัยจำนวนมาก
9. นักเขียน:
ด้วยทักษะการสื่อสารและความรู้ด้านบัญชีและการเงิน CPA สามารถเขียนบทความ หนังสือ หรือสื่อการสอนเกี่ยวกับบัญชีและการเงิน การแบ่งปันความรู้ผ่านตัวอักษร จะช่วยให้ผู้คนเข้าใจเรื่องบัญชีและการเงินได้ง่ายขึ้น
10. Youtuber/Tiktoker:
ในยุคดิจิทัล CPA สามารถใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ด้านการเงิน สร้างรายได้ และสร้างชื่อเสียงในฐานะ Youtuber หรือ Influencer ได้ด้วย ซึ่งถือเป็นอาชีพอิสระที่ใครหลายคนใฝ่ฝัน สามารถต่อยอดไปยังธุรกิจสำนักงานบัญชีได้อีกด้วย
และทั้งหมดก็เป็นอาชีพหนีตายยอดฮิตจากออดิทครับ ขอให้ทุกคนโชคดีในการเลือกอาชีพครับ
สั่งซื้ออีบุ๊ค: