ตลอด20ปีที่ผ่านมา ผมเคยทำทั้งอาชีพ ผู้สอบบัญชี, ไอทีออดิท และผู้ตรวจสอบภายใน มาแล้ว การจะตัดสินว่างานชนิดไหนหนักหรือเปล่าต้องดูจากปัจจัยต่างๆ เช่น ระยะเวลาการทำงานใน1วันในช่วงงานพีค ประเภทของลูกค้าและเวลาอ่านหนังสือสอบวุฒิบัตร เป็นต้น
แล้วอาชีพออดิทงานหนักมั้ย?
งานออดิทในประเทศไทยถือว่าท้าทายและสำคัญมาก เรามีบทบาทหลักในการตรวจสอบ ประเมิน และรับรองความถูกต้องของข้อมูลทางการเงิน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และกระบวนการทำงานต่างๆ ขององค์กร เพื่อให้มั่นใจว่ามีการปฏิบัติตามกฎระเบียบ มาตรฐาน และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง
ผู้สอบบัญชี (Auditor) มีหน้าที่ตรวจสอบงบการเงินและรายงานทางการเงินขององค์กรต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่ามีความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป งานในสายนี้มักจะมีระยะเวลาการทำงานที่กระชั้นชิดเนื่องจากต้องทำงานให้ทันภายในกำหนดเวลาที่องค์กรต้องจัดทำและส่งรายงาน
ขั้นตอนการรีวิวงานของออดิท:
- ในช่วงที่ออดิทอยู่ใน Fieldwork จะมีกิจกรรมมากมายในทำในแต่ละวัน เช่น ขั้นตอนการรีวิวงานในทีม
- หลังจากน้องออดิทในทีมทำ working paper เสร็จก็จะส่งต่อให้พี่อินชาจรีวิวงานให้ แล้วพี่อินชาจก็จะแจก review note กลับมาให้น้องออดิทไปหาคำตอบหรือไปหาข้อมูลมาเพิ่มเพื่อตอบข้อสงสัย หมายความว่า มันจะมีการส่งงานกลับไปกลับมาอยู่หลายรอบกว่าจะเป็นเวอร์ชั่นสุดท้ายที่จะส่งให้พี่ AM หรือพี่ Manager รีวิว
- พอได้รับ review note มา น้องออดิทในทีมต้องไปถามลูกค้าเพิ่ม ขอเอกสารเพิ่ม หรือตรวจเพิ่มเพื่อหาข้อสรุป
- ถ้าตรวจเจอประเด็น ต้องยืนยันข้อเท็จจริงกับลูกค้าทันที และต้องมีเอกสารหลักฐานสนับสนุนที่เพียงพอ
- ประเด็นที่ลูกค้าให้เอกสารช้ากว่ากำหนด ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องบริหารจัดการให้เรียบร้อย
- หลังจากพี่ Manager รีวิวงานเสร็จ ก็จะ draft ประเด็นที่จะใช้คุยเพื่อ Exit Meeting กับลูกค้าในวันสุดท้ายของ fieldwork
- ในช่วงพีค ออดิท1คน อาจต้องกระโดดไปมาระหว่างลูกค้า2-3รายภายในสัปดาห์เดียวกัน
ไอทีออดิท (IT Auditor) มีบทบาทในการประเมินและตรวจสอบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที และความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลขององค์กร เพื่อให้มั่นใจว่ามีการควบคุมและบริหารจัดการอย่างเหมาะสม รวมถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
ผู้ตรวจสอบภายใน (Internal Auditor) จะทำหน้าที่ประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบการควบคุมภายใน กระบวนการบริหารความเสี่ยง และการกำกับดูแลกิจการขององค์กร เพื่อให้คำแนะนำในการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
และนี่คือตารางเปรียบเทียบความหนักหน่วงของงานออดิททั้ง3ประเภท ตามประสบการณ์ทำงานที่ผมเคยเจอ แต่ผมต้องออกตัวไว้ก่อนว่า ประสบการณ์ที่ผมเจอไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องเจอเหมือนผม และมันมีรายละเอียดในเนื้องานที่แตกต่างกันไปตามขนาดของบริษัท หรือประเภทอุตสาหกรรมของบริษัทที่เราทำงานอยู่ด้วย
หัวข้อ | ผู้สอบบัญชี | ไอทีออดิท | ผู้ตรวจสอบภายใน |
1. ระยะเวลาการทำงานใน1วันในช่วงงานพีค | 17ชม.+-/โต้รุ่ง1 | 14ชม.+-2 | 14ชม.+-3 |
2. ประเภทของลูกค้า | ฝ่ายบัญชี4 | ฝ่ายไอที5 | หลากหลาย6 |
3. เวลาอ่านหนังสือสอบวุฒิบัตร | น้อยมาก7 | ปานกลาง8 | มาก9 |
4. ความถี่ในการอัพเดทความรู้ใหม่ๆ | ปานกลาง10 | ปานกลาง11 | สูง12 |
โดยทั่วไปแล้ว อาชีพออดิทถือเป็นงานที่มีความท้าทายและความกดดันค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องปฏิบัติงานภายใต้ระยะเวลาและกรอบเวลาที่จำกัด มีความรับผิดชอบสูง และต้องมีความละเอียดรอบคอบ ความซื่อสัตย์ และจรรยาบรรณในการทำงานเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม หากสามารถจัดการกับความกดดันและความท้าทายเหล่านี้ได้ อาชีพนี้ก็จะให้โอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีรายได้และความมั่นคงในอาชีพที่ดี
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยเพื่อนๆในการตัดสินใจเลือกงานนะครับ
สั่งซื้ออีบุ๊ค:
- ในช่วงตรวจสอบงบการเงินประจำปี เช่น เดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ของทุกปี ผู้สอบบัญชีต้องเริ่มงานตั้งแต่9โมงเช้า ถึงตี2 เกือบทุกวัน ต่อเนื่องกันนานเป็นเดือน และมีบางวันต้องทำงานโต้รุ่งด้วย แต่ถ้าเป็นช่วงตรวจสอบงบการเงินรายไตรมาส อาจไม่จำเป็นต้องกลับบ้านตี2ทุกวัน แต่ก็ถือว่าเป็นอาชีพที่กลับบ้านดึกที่สุดในสายงานออดิท ผู้สอบบัญชีมักจะเริ่มว่างและได้ลาพักร้อนในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี ↩︎
- งานไอทีออดิทถือเป็นงานในฝันของใครหลายคนเพราะสามารถเริ่มงาน9โมงเช้า และเลิกงาน6โมงเย็นได้ แม้จะอยู่ในช่วง fieldwork ก็ตาม เนื่องจากเอกสารที่ไอทีออดิทตรวจมักจะอยู่ในรูปแบบของซอฟท์ไฟล์ซึ่งสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ เช่น เราสามารถเลิกงานจากออฟฟิศลูกค้าได้เร็วเพื่อเลี่ยงรถติด แล้วไปทำงานต่อที่บ้านได้เลย ขอให้งานที่ได้รับมอบหมายเสร็จเรียบร้อยตามกำหนดก็เพียงพอแล้ว หมายความว่าตัวเราไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ออฟฟิศลูกค้าตลอดเวลาเหมือนผู้สอบบัญชี แต่มันก็มีช่วงพีคที่มีงานซ้อนพร้อมกัน2-3งานในอาทิตย์เดียวกันเลยก็มี ทำให้บางครั้งต้องกลับบ้านดึกเช่นกัน ↩︎
- งานของผู้ตรวจสอบภายในมีความหลากหลาย บางครั้งก็ต้องทำงานที่ออฟฟิศ บางครั้งก็ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ บางทีต้องจัดเตรียมวาระการประชุมและจัดทำบันทีกการประชุมกับคณะกรรมการตรวจสอบทุกๆเดือนเลยก็มี แต่ตอนที่ผมเป็นผู้ตรวจสอบภายใน งานผมจะหนักในช่วง fieldwork เท่านั้น และมันจะมีบางช่วงที่ว่าง ทำให้เรามีเวลาพัฒนาตัวเองมากหน่อย ถือเป็นอาชีพที่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆเยอะที่สุดเนื่องจาก scope งานที่กว้าง เทียบกับอาชีพผู้สอบบัญชีและไอทีออดิท ↩︎
- ผู้สอบบัญชีจะได้คุยกับลูกค้าฝ่ายบัญชีมากที่สุด เนื่องจากธรรมชาติของนักบัญชีที่มีความละเอียดรอบคอบทำให้ผู้สอบบัญชีจะต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลาเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าในระยะยาว ↩︎
- ไอทีออดิทจะได้ร่วมงานกับลูกค้าฝ่ายไอทีมากที่สุด ธรรมชาติของคนแผนกไอทีมักจะเป็นคนชิลๆ ผ่อนคลาย ส่วนใหญ่จะคุยง่ายกว่าลูกค้าฝ่ายบัญชี ↩︎
- เนื่องจากงานของผู้ตรวจสอบภายในมีตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ทำให้ต้องเจอกับลูกค้าที่หลากหลาย เกือบทุกหน่วยงานในบริษัท ถือเป็นอาชีพที่ดีในการฝึกทักษะการทำงานร่วมกับคน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พอคนเยอะ เรื่องก็จะแยะเช่นกัน ↩︎
- ถ้าเป็นบริษัทบิ๊กโฟร์ ผู้ช่วยผู้สอบบัญชีที่สามารถบริหารจัดการเวลาให้เหลือพอที่จะไปอ่านหนังสือสอบ CPA ได้ และสอบ CPA ผ่านทั้ง6วิชาภายใน3ปี ถือว่าเก่งมากเพราะมีแค่ประชากรส่วนน้อยในบริษัทเท่านั้นที่ทำได้ แม้ว่าบริษัทจะมีวันลาพิเศษให้ไปอ่านหนังสือสอบได้ แต่มันก็ไม่พออยู่ดี ↩︎
- เนื่องจากธรรมชาติของงาน work from anywhere ของไอทีออดิท และเนื้องานที่ไม่หนักมาก ทำให้สามารถบริหารจัดการเวลาอ่านหนังสือสอบ CISA ได้ง่ายกว่าผู้สอบบัญชี ↩︎
- ผมจำได้ว่าตอนเป็นผู้ตรวจสอบภายใน ผมมีเวลาว่างเยอะมากในช่วงนอก fieldwork ทำให้มีเวลาอ่านหนังสือสอบ CIA ได้สบาย ↩︎
- ผู้สอบบัญชีจะมีช่วงเข้าเทรนเพื่ออัพเดทความรู้ในช่วง off peak ของทุกปี เช่น อัพเดทมาตรฐานบัญชีใหม่ๆ ↩︎
- ไอทีออดิทก็มีช่วงเทรนประจำปีเหมือนผู้สอบบัญชี หลังจากการมาของ Generative AI ทำให้ไอทีออดิทต้องโฟกัสกับระบบควบคุมภายในที่เกี่ยวข้องกับ AI และต้องอัพเดทความรู้ใหม่ๆ เช่นกัน ↩︎
- เนื่องจากสโคปงานที่กว้างมาก ผู้ตรวจสอบภายในต้องอัพเดทความรู้ถี่กว่าออดิทชนิดอื่น นอกจากจะต้องเข้าห้องเทรนบ่อยๆแล้ว ยังต้องศึกษากฎหมาย กฎเกณฑ์ใหม่ๆของอุตสาหกรรม รวมถึงวางแผนการตรวจสอบในหัวข้อที่งอกขึ้นมาใหม่ทุกๆปี ↩︎