6 เคล็ดลับหางานที่ใช่

เจองานที่ใช่เหมือนได้ครองโลก

แม้ว่าผมจะเรียนจบตรีมาจากคณะบัญชี จุฬาฯ ก็จริง แต่ทั้งชีวิตนี้ผมกลับทำงานมาแล้วมากกว่า18อาชีพ ซึ่งอาชีพส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับคณะบัญชีที่ผมเรียนจบมาเลย ไม่ว่าจะเป็น

  • นักบัญชี
  • ผู้สอบบัญชี
  • ไอทีออดิท
  • ผู้ตรวจสอบภายใน
  • เจ้าหน้าที่ปรับโครงสร้างหนี้
  • เจ้าหน้าที่ดูแลระบบคลังสินค้า
  • ทหารเกณฑ์
  • คนขับแกรปคาร์/ อูเบอร์เอ็กซ์
  • นักแปลอิสระ
  • นักเขียนอีบุ๊ค
  • นักเขียนบทความ
  • แอดมินเพจ Netflix Addict (รีวิวซีรีส์เกาหลี)
  • ยูทูปเบอร์/ ติ๊กต่อกเกอร์ช่อง เป้ แนะแนวการศึกษาและอาชีพ
  • พ่อค้าออนไลน์
  • นักลงทุนหุ้นคุณค่า
  • เทรดเดอร์ที่ใช้กราฟเทคนิค
  • เจ้าของเว็บไซต์
  • ที่ปรึกษาอิสระ

บางคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมผมต้องเลือกทำอาชีพเยอะแยะขนาดนี้ ในเมื่อผมสามารถทำเงินจากเงินเดือนหลักแสนได้จากอาชีพไอทีออดิทอยู่แล้ว ผมจะหาเรื่องใส่ตัวไปทำอาชีพอื่นๆที่ได้เงินน้อยแค่วันละหลักร้อยไปเพื่ออะไร คำตอบพวกนี้มีในบทความนี้แน่นอนครับ

เนื่องจากเหตุผลในการทำงานของคนเราไม่เหมือนกัน แต่หลักๆแล้ว คนมักจะทำงานเพราะเหตุผลพวกนี้:

เงินเป็นเหมือนปัจจัยที่5ของมนุษย์
  • เงิน
    • เนื่องจากเงินเปรียบเสมือนปัจจัยที่5ของมนุษย์ เพราะถ้าไม่มีเงินเรายังไม่ตายก็จริง แต่เราจะเครียดเหมือนตายทั้งเป็นอยู่ดี 555
    • งานที่ให้เงินเยอะกว่า ถือเป็น1ในปัจจัยหลักในการเลือกงานของใครหลายคน
    • เนื่องจากเวลาชีวิตของคนเรามีจำกัด บางคนคิดว่าการที่เราหาเงินได้เยอะที่สุด ถือว่าเราใช้เวลาชีวิตได้มีประสิทธิภาพมากกว่า เราจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขยามบั้นปลายหลังจากมีอิสรภาพทางการเงินไปแล้ว ในขณะที่บางคนคิดตรงข้ามว่า เราไม่จำเป็นต้องทำงานที่ได้เงินเยอะก็ได้ เพราะเราสามารถทำงานไปเรื่อยๆ ได้จนวันตาย ขอแค่มีความสุขก็พอตามอัตภาพ
  • งานที่เราชอบ รัก หลงใหล หรือสิ่งที่ไลฟ์โค้ชชอบเรียกว่า ‘แพชชั่น’
    • ไลฟ์โค้ชชอบให้เราตามหาแพชชั่น แต่รู้หมือไร่ว่า คนที่เจอแพชชั่นจริงๆในโลกนี้มีไม่ถึง10%
    • คนที่เจอแพชชั่นถือเป็นคนที่โชคดีเพราะมีโอกาสที่จะมีความสุขจากการทำงานมากกว่า
  • งานที่ตอบความหมายของการมีชีวิตอยู่
    • คนบางคนชอบทำงานเพื่อสังคม เช่น นักดับเพลิง หรืออาสากู้ภัย งานเหล่านี้เป็นงานที่ต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และเป็นงานได้เงินน้อยหรือบางทีไม่ได้เงินเลยก็มี แต่ทำแล้วใจฟู
    • บางคนไม่สนับสนุนอบายมุขต่างๆ เช่น เหล้า บุหรี่ เพราะเชื่อว่ามันทำลายสังคม คนเหล่านี้ก็จะไม่ทำงานในบริษัทที่ขายเหล้าและบุหรี่ เพราะมันขัดกับอุดมการณ์ส่วนตัว
    • บางคนไม่สนับสนุนการทำลายสิ่งแวดล้อม ก็เลือกที่จะไม่สมัครงานหรือร่วมงานกับบริษัทที่มีคะแนน ESG (Environment Social and Governance) ที่ต่ำ
    • การที่ผมไลฟ์สดตอบคำถามฟรีๆในช่องติ๊กต่อกกับยูทูปทุกวันก็ถือว่าอยู่ในหมวดนี้เช่นกัน เพราะผมคิดว่ามันเป็นการทำบุญอย่างนึง
  • งานที่ทำแล้วได้อิสระในการใช้ชีวิต
    • บางคนเกลียดการตอกบัตร หรือแตะบัตรเข้าทำงาน เลยเลือกทำอาชีพอิสระจากที่บ้าน
    • บางคนต้องดูแลพ่อแม่ที่ป่วย หรือติดเตียง เลยจำเป็นต้องทำงานอิสระก็มี
    • การเป็นเจ้าของธุรกิจหรือนักลงทุน มีอิสระในการใช้ชีวิตมากกว่าลูกจ้างหรือคนทำอาชีพฟรีแลนซ์
  • งานที่มั่นคง
    • นิยามคำว่ามั่นคงของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ตัวอย่างของงานที่มั่นคงที่คนไทยชอบนิยามกันก็คือ งานราชการ เนื่องจากข้าราชการส่วนใหญ่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้คนในครอบครัวได้ เช่น ถ้ามีคนในครอบครัวเป็นโรคร้าย แล้วต้องใช้ค่ารักษาหลักแสนขึ้นไป อันนี้สามารถเบิกได้สบาย ในขณะที่คนทำงานในบริษัทเอกชนไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายเหล่านี้ในคนในครอบครัวได้ หรือถ้าเบิกได้ก็จะถูกจำกัดเอาไว้ว่าไม่เกินเพดานที่กำหนด
    • แต่งานที่มั่นคงในความคิดของผมคือ งานที่สร้าง passive income ได้เท่ากับรายจ่ายประจำเดือนเป็นอย่างน้อย มันคืองานที่สร้างเงินให้เราตอนเรานอนหลับอยู่ได้ เช่น เงินปันผลจากหุ้น และรายได้จากอีบุ๊ค

การหางานที่ใช่จากเหตุผลข้างต้นถือว่าสมเหตุสมผล แต่การที่จะรู้ว่าตัวเราเหมาะกับงานไหนบ้างมันก็มีวิธีพิจารณาเช่นกัน เพราะความสามารถ ทักษะ และความสนใจของคนเราแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย ผมแนะนำให้ลองทำตามนี้:

  1. ลองๆๆ แล้วก็ลอง
    • การได้ลองทําหลายอาชีพในฐานะลูกจ้าง ทําให้เรารู้ว่ามีอาชีพไหนบ้างที่เรารัก ชอบมาก ชอบน้อย หรือเกลียดบ้าง
    • ทักษะและประสบการณ์ที่เราได้รับจากการลองทําอาชีพต่างๆ ทําให้เรามีมุมมองที่หลากหลาย สามารถเอาไปใช้ต่อยอดเป็นเจ้าของธุรกิจได้ในตอนท้าย
    • บางคนชอบอาชีพบริการ ในขณะที่บางคนชอบอาชีพที่ใช้เครื่องมือ ส่วนบางคนชอบทำงานกับข้อมูล
  2. เลือกงานที่เราถนัด
    • งานที่เราถนัดเป็นงานที่เราทําแล้วผลงานออกมาดี
    • เราไม่จําเป็นต้องชอบงานนั้นก็ได้
    • การได้ทํางานที่เราถนัดจะทําให้เราใช้เวลาน้อยลง เราสามารถใช้เวลาที่เหลือไปทํางานที่2-3-4ต่อได้
  3. เลือกงานที่ชอบ
    • เคยมีคํากล่าวที่ว่า ‘ถ้าเราได้ทํางานที่ชอบ เราจะไม่รู้สึกว่าเรากําลังทํางานอยู่อีกต่อไป’ ดูเหมือนจะมีส่วนจริง เพราะผมเคยรู้สึกแบบนี้ตอนทํางานไอทีออดิทอยู่ช่วงนึง ผมอยากตื่นเช้าไปทํางาน ไปเจอเพื่อนสนิทที่ออฟฟิศทุกวัน แต่พอเพื่อนสนิทลาออกยกชุด ความรู้สึกนี้ก็เปลี่ยนไปได้เหมือนกัน
    • งานที่เราชอบ อาจไม่ใช่การที่เราชอบในเนื้องาน แต่อาจเป็นบรรยากาศการทํางานที่ดี มีเพื่อนร่วมงานดี ลูกน้องน่ารัก หรือเจ้านายที่น่าทํางานด้วยก็ได้
    • วิธีดูว่าเราชอบงานนั้นหรือเปล่า ให้เราถามตัวเองว่า ถ้าเราได้ทํางานนั้นฟรีๆ โดยไม่ได้ค่าจ้าง แล้วเรายังอยากจะตื่นไปทํางานนั้นอยู่ทุกวันหรือเปล่า ถ้าคําตอบคือใช่ นั่นแหละคืองานที่เราชอบ
  4. ใช้แบบประเมินบุคลิกภาพ MBTI
    • คอนเซปท์ของ MBTI คือ บุคลิกภาพของคนเรามี16แบบ
    • เราต้องรู้ก่อนว่าเราเป็นคนมีบุคลิกภาพแบบไหน ซึ่งมันจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทํางาน
    • ถ้าเราได้ทํางานที่สอดคล้องกับบุคลิกภาพของเรา ก็จะทําให้เรามีแนวโน้มที่จะประสบความสําเร็จได้มากขึ้น
  5. ดูความก้าวหน้าของอาชีพ
    • อาชีพบางอาชีพอาจมีกรณีที่ตําแหน่งงานตัน หรือทํางานยาวๆไป10ปีแล้วไม่ได้เลื่อนขั้นก็มี หรืออาจจะไม่มีตําแหน่งงานที่เป็นหัวหน้าแผนกด้วยซ้ํา หรือต่อให้มีก็เถอะ ผู้จัดการแผนกมักจะอยู่ยาวยันเกษียณ ทําให้เราเลื่อนตําแหน่งขึ้นไปไม่ได้อยู่ดี มันแปลว่าเงินเดือนเราจะถูกปรับขึ้นช้ามากเพราะเราถูกแช่อยู่ในตําแหน่งเดิมถาวร
    • การเปลี่ยนงานทุกๆ3ปี อาจสมเหตุสมผลสําหรับใครบางคน เพราะทุกครั้งที่เราเปลี่ยนงาน เราจะได้เงินเดือนมากขึ้นอย่างน้อยประมาณ20%จากฐานเงินเดือนที่เก่าในขณะที่ ถ้าเราทํางานในที่ทํางานเดียวยาวเป็นสิบปี ฐานเงินเดือนของเราในปีที่10อาจน้อยกว่าเพื่อนร่วมรุ่นที่เรียนจบมาปีเดียวกันถึง2เท่าเลยทีเดียว เพราะเพื่อนเราตัดสินใจเปลี่ยนงานทุก3ปี
  6. เลือกงานที่เงินเดือนสูง
    • บางครั้งเราอาจกําลังเดือดร้อนเรื่องเงิน เราอาจคิดว่าเงินเป็นปัจจัยที่สําคัญกว่าความสุขก็ได้ในบางช่วงของชีวิต เราอาจตัดสินใจเลือกงานที่เราไม่ชอบแต่ได้เงินเดือนสูงแล้วลองทําไปสักระยะเวลาหนึ่ง พอกู้สถานการณ์เงินช็อตได้แล้ว เราค่อยพิจารณาเปลี่ยนงานในภายหลัง
    • จากประสบการณ์ส่วนตัวของผม ต่อให้เราได้เงินเดือนเป็นแสนแต่ถ้าเราไม่แฮปปี้กับงานนั้น เราก็ต้องเปลี่ยนงานอยู่ดีเพราะเราจะหมดไฟในการทํางานในที่สุด

การค้นหางานที่ใช่อาจต้องใช้เวลา แต่ก็คุ้มค่าที่จะลงทุนเพราะมันจะช่วยให้คุณมีความสุขและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ขอให้ทุกคนเจองานที่ใช่ไวๆครับ

หางานที่ใช่ยังไง?

สั่งซื้ออีบุ๊ค:

อีบุ๊คคู่มือเลือกอาชีพแห่งโลกอนาคต

อีบุ๊คคู่มือออดิทมือใหม่

อีบุ๊คไอทีออดิท101

อีบุ๊คตรวจสอบภายใน101

คู่มือเกณฑ์ทหารโดย(ไม่)สมัครใจ

เป้ แนะแนว
เป้ แนะแนว

เป้ แนะแนวจบปริญญาตรีจากคณะบัญชี จุฬาฯ มีประสบการณ์ทำงานด้านไอทีออดิทมากว่าสิบปีในบริษัทบิ๊กโฟร์อย่าง KPMG กับ Deloitte จนเป็น Certified Information Systems Auditor (CISA) เคยเป็นทหารเกณฑ์ ปัจจุบันเป็นเน็ตไอดอลช่องติ๊กต่อกเป้ แนะแนวการศึกษาและอาชีพ และเจ้าของเพจรีวิวซีรีส์เกาหลีอย่าง Netflix Addict

Articles: 63

2 Comments

  1. พี่เป้ครับ
    ผมเรียนจบพยาบาล มาได้ ทำงานเป็นพยาบาล อยู่รพ.รัฐ ได้ 5 ปี วันหนึ่ง พ่อบอกว่า จะต้องมารับกิจการ ค้า ขายต่อ
    ผมถามว่า จะต้องเรียนต่อ คณะอะไรดี
    อนาคตเเพลน ขยาย กิจการต่อ ทำเป็น หจก. ครับ

    • สวัสดีครับน้องหมูหวาน เท่าที่อ่านคำถามของน้อง มีรายละเอียดต่างๆที่พี่ต้องสอบถามเพิ่มครับ เพื่อจะได้ให้คำปรึกษาได้ และพี่มีบริการที่ปรึกษาครับ สนใจทักแชทมาได้ที่ https://www.facebook.com/auditfriend ครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *