12 ความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ของ Generative AI

เอไอวายร้าย

หลายคนคงได้ยินข่าวที่ประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและจีนได้ออกกฎหมายควบคุม Generative AI (Gen AI) ออกมาแล้ว แม้ว่า Gen AI จะเป็นเทคโนโลยีที่ทรงพลัง เราสามารถใช้มันสร้างเนื้อหาที่สมจริงและน่าดึงดูดใจได้หลากหลายรูปแบบ แต่การใช้ Gen AI กลับมาพร้อมกับความเสี่ยงมากมายที่อาจส่งผลกระทบต่อตัวบุคคลและสังคมโดยรวม และนี่คือ 12ความเสี่ยงที่สำคัญของการใช้งาน Gen AI

1. การก่อการร้าย: Gen AI สามารถสร้างเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับอาวุธเคมี ชีวภาพ รังสี และนิวเคลียร์ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยสาธารณะ ตัวอย่างเช่น ผู้ไม่หวังดีอาจใช้ Gen AI เพื่อขอสูตรในการสร้างอาวุธเคมีมาโจมตีประเทศคู่กรณีก็ได้

2. อาการหลอนของ AI: หลายคนไม่รู้ว่าบางที Gen AI ก็มีอาการหลอนเหมือนคนติดยาเสพติดได้เหมือนกัน มันอาจให้ข้อมูลที่มั่วซั่วกับเราแบบหน้าตาเฉย พอเราทักมันไปว่ามั่วหรือเปล่า บางทีมันก็ตอบมาว่าเออมั่วจริงด้วย แบบนี้ก็ได้เหรอ 555 ถ้าเราไม่มีขั้นตอนการยืนยันข้อเท็จจริงที่ได้จากมันอย่างรัดกุม การนำข้อมูลเท็จหรือข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นไปใช้ อาจสร้างความเสียหายรุนแรงให้เราได้เช่นกัน

3. คำแนะนำที่รุนแรง: Gen AI อาจถูกนำไปใช้สร้างเนื้อหาที่สนับสนุนความรุนแรง เช่น คำพูดแสดงความเกลียดชัง การยุยงให้ใช้ความรุนแรง หรือคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการก่ออาชญากรรม สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อสังคมและนำไปสู่ความรุนแรงได้

4. ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล: Gen AI มักถูกเทรนด้วยชุดข้อมูลขนาดใหญ่ที่อาจมีข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ลายนิ้วมือ ข้อมูลสุขภาพ พิกัดจีพีเอส และข้อมูลที่เปราะบางต่างๆ หากไม่มีการป้องกันที่เพียงพอ ข้อมูลเหล่านี้อาจถูกเปิดเผยหรือถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ เช่น การสะกดรอยตาม การโจมตีทางการเมืองและการก่ออาชญากรรมรุนแรง

5. สิ่งแวดล้อม: การเทรน Gen AI จะต้องใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์จำนวนมากในการประมวลผล แน่นอนว่ามันต้องส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว

6. การทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับ AI: Gen AI จะทำงานได้ดีที่สุดก็ตื่อเมื่อมันถูกใช้ร่วมกับการตัดสินใจของมนุษย์ ในทางปฏิบัติ เราอาจเกิดอคติบางอย่างในการใช้งาน เช่น เราอาจตัดสินใจเชื่อในสิ่ง Gen AI ประมวลผลออกมาแบบ100% ไปเลย หรือในกรณีที่มันเกิดทำงานผิดพลาดให้เราเห็น เราอาจตัดสินใจไม่เชื่อถือ Gen AI ไปเลยก็ได้ อคติเหล่านี้ถือเป็นดาบสองคม สิ่งสำคัญคือต้องออกแบบระบบที่มนุษย์และ AI ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

7. ความถูกต้องของข้อมูล: Gen AI อาจสร้างเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องหรือทำให้เราเข้าใจผิด บางทีเราไม่สามารถแยกออกระหว่างข้อเท็จจริงกับความคิดเห็นได้ ทำให้เกิดความเสียหายจากการนำข้อมูลผิดๆไปใช้งาน สิ่งสำคัญคือเราต้องมีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่สร้างขึ้นโดย Gen AI ด้วย ไม่ใช่นำข้อมูลจากมันไปใช้ทันทีแบบขาดสติ

8. ความปลอดภัยของข้อมูล: แฮกเกอร์หัวใสจำนวนมากใช้ Gen AI ในการทำสิ่งเลวร้ายต่างๆ เช่น การเขียนโค้ดโจมตีเซิฟเวอร์ การสร้างมัลแวร์ และการฟิชชิ่งเพื่อหลอกให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นเว็บไซต์ธนาคารแล้วโอนเงินให้ ทำให้ข้อมูลที่เป็นความลับรั่วไหลได้ หรือถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด

9. ทรัพย์สินทางปัญญา: Gen AI สามารถสร้างเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์หรือเครื่องหมายการค้าได้

10. เนื้อหาที่ลามกอนาจาร หรือล่วงละเมิด: Gen AI สามารถสร้างเนื้อหาที่ลามกอนาจาร ดูถูก หรือล่วงละเมิด เช่น การอนาจารเด็ก และการสร้างรูปโป๊เปลือย ทำให้เกิดอันตรายต่อบุคคลและสังคม

11. เนื้อหาที่เป็นพิษ อคติ และการกลืนกินทางวัฒนธรรม: Gen AI อาจถูกนำไปสร้างเนื้อหาที่เป็นพิษ เช่น การใส่ร้าย การเหยียดชนชั้น ทำให้เกิดอคติบางอย่างต่อตัวบุคคลหรือองค์กร และเนื่องจากผู้ใช้ Gen AI ส่วนใหญ่ในโลกใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ส่งผลให้ภาษาอื่นๆที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษถูกลดความสำคัญลงหรือฐานข้อมูลที่มีไม่เพียงพอจากภาษาอื่นๆ ที่ถูกใช้งานน้อย ทำให้ output ที่ออกมาไม่ดีเท่า output ที่ได้จากการป้อนถามเป็นภาษาอังกฤษ

12. ข้อมูลที่ไม่ผ่านการกรอง: บางทีเราใช้ Gen AI มาเชื่อมต่อกับระบบหลังบ้านของบริษัท บางทีมันมีข้อมูลบางอย่างที่ไม่ผ่านการกรองอย่างละเอียด ทำให้ข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ อาจนำไปสู่ความเสี่ยงใหม่ ๆ ของธุรกิจได้ เช่น การเสียลูกค้า

สรุป:

Gen AI เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพมหาศาล แต่มันก็คือดาบสองคมเช่นกัน สิ่งสำคัญคือ เราต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องมีแนวทางปฏิบัติและมาตรการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

อาชีพที่โดนเอไอแย่งงาน

สั่งซื้ออีบุ๊ค:

อีบุ๊คคู่มือออดิทมือใหม่

อีบุ๊คไอทีออดิท101

อีบุ๊คตรวจสอบภายใน101

อีบุ๊คคู่มือเลือกอาชีพแห่งโลกอนาคต

เป้ แนะแนว
เป้ แนะแนว

เป้ แนะแนวจบปริญญาตรีจากคณะบัญชี จุฬาฯ มีประสบการณ์ทำงานด้านไอทีออดิทมากว่าสิบปีในบริษัทบิ๊กโฟร์อย่าง KPMG กับ Deloitte จนเป็น Certified Information Systems Auditor (CISA) เคยเป็นทหารเกณฑ์ ปัจจุบันเป็นเน็ตไอดอลช่องติ๊กต่อกเป้ แนะแนวการศึกษาและอาชีพ และเจ้าของเพจรีวิวซีรีส์เกาหลีอย่าง Netflix Addict

Articles: 63

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *