10 ทักษะสำคัญของอาชีพออดิท

ชีวิตประจำวันของออดิท

อาชีพออดิทถือเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับองค์กร เนื่องจากบทบาทหน้าที่ของออดิทคือการช่วยให้องค์กรสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามกฎกติกา ดังนั้น คนที่จะทำอาชีพนี้จำเป็นต้องมีทักษะที่จำเป็นเหล่านี้ ได้แก่:

  1. ทักษะในการใช้ Generative AI (Gen AI): หลังจากการมาของ Gen AI อย่าง ChatGPT, Claude AI, Google Gemini, Mid Journey, Sora และ Bing AI มันทำให้เกิดช่องว่างในทุกๆอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่อาชีพออดิท เนื่องจากออดิทที่ใช้ Gen AI พวกนี้เป็น จะได้เปรียบคนอื่นอยู่หลายช่วงตัวพอสมควร เพราะออดิทสามารถใช้มันช่วยงานได้ตามนี้
    • ออกแบบ Audit Program ในหัวข้อที่ไม่เคยตรวจมาก่อน ทั้งนี้ ตัวออดิทเองต้องมีทักษะในการวิเคราะห์ Audit Program ที่ Gen AI ออกแบบมาให้ว่ามันสมเหตุสมผลหรือเปล่า ไม่ใช่เชื่อและทำตามทุกอย่างแบบไม่รู้จักกระตุกต่อมเอ๊ะ กิจกรรมนี้จะอันตรายมากถ้าตัวออดิทเองคิดไม่เป็นโดยเฉพาะออดิทมือใหม่
    • ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล: ทุกวันนี้ออดิทยังใช้พวก Data Analytics tool อย่าง ACL, IDEA หรือ Python ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล แต่เครื่องมือเหล่านี้ส่วนใหญ่มันแค่ช่วยกรองข้อมูลที่เราสนใจออกมา หรือถ้ามันวิเคราะห์ให้เรา เราก็ใช้ผลจากมันไม่ได้100%ในบางกรณี สุดท้ายตัวออดิทเองก็ต้องเป็นคนวิเคราะห์และฟันธงผลการตรวจสอบเองอยู่ดี ในขณะที่ Gen AI สามารถช่วยประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลได้ เพื่อระบุแบบแผนและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในองค์กร ซึ่งจะช่วยให้ออดิทสามารถวางแผนการตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
    • ช่วยจัดทำรายงานสรุปผลการตรวจสอบ: Gen AI สามารถช่วยเราสรุปผลการตรวจสอบและจัดทำรายงานได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพ และใช้ภาษาไทยได้สละสลวยพอๆกับคนเลยทีเดียว เช่น เราได้สิ่งที่ตรวจพบ (Observation) มาแล้ว แต่เราอยากให้มันช่วยเขียนเรื่องความเสี่ยง (Risk) และข้อเสนอแนะ (Recommendation) ให้เรา เพียงแค่กดคลิ๊กเดียวก็ช่วยประหยัดเวลาไปเยอะมาก ผมจำได้ว่าเคยเขียนรายงานสรุปผลการตรวจสอบโดยใช้เวลา2-3ชม. แต่ถ้าใช้ Gen AI เผลอๆ ใช้เวลาลดลงเหลือแค่ชม.เดียวเท่านั้น
    • ช่วยในการสื่อสารและนำเสนอ: Gen AI สามารถช่วยเราจัดทำสื่อนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สไลด์พาวเวอร์พอยต์ หรือวีดีโอ ซึ่งจะช่วยให้ออดิทสามารถนำเสนอผลการตรวจสอบได้อย่างชัดเจนและน่าสนใจ
  2. ทักษะด้านการวิเคราะห์และการแก้ไขปัญหา: ออดิทต้องสามารถวิเคราะห์ข้อมูลและสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างลึกซึ้ง เพื่อระบุปัญหาและหาแนวทางในการแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    • ถ้าลูกค้าไม่ให้เอกสาร เราต้องรู้เหตุผลว่าเพราะอะไร เช่น ลูกค้ายุ่งมาก มีงานด่วนเข้ามา หรือติดประชุมทั้งวัน หรือจงใจดึงเกมให้ช้าเพื่อไม่ให้เราตรวจเจอประเด็นที่ซุกซ่อนอยู่ หรือน้องในทีมไปทำอะไรให้ลูกค้าไม่พอใจหรือเปล่า ออดิทจะต้องเข้าใจภาพรวมเหล่านี้ทั้งหมด
  3. ทักษะด้านการสื่อสารและการนำเสนอ: ออดิทต้องสามารถสื่อสารและนำเสนอผลการตรวจสอบได้อย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย ทั้งในรูปแบบของการเขียนรายงานและการนำเสนอด้วยวาจา
    • ออดิทบางคนทำงานเก่งมาก แต่พอให้นำเสนอผลการตรวจสอบกลับทำได้ไม่ดี พูดไม่รู้เรื่อง พอลูกค้าถามจี้ว่าประเด็นนี้มีความเสี่ยงอะไร หรือคิดว่าความเสี่ยงที่เรานำเสนอสูงเกินไป ขอลดได้มั้ย ออดิทพวกนี้ก็จะอึ้งกิมกี่ ไปต่อไม่เป็น หรือเออออห่อหมกจนตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบและต้องยอมดร็อปประเด็นในที่สุด
    • ทักษะในการเขียนรายงานก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว เรียกได้ว่ายิ่งเขียนเยอะยิ่งเก่ง การเขียนให้คนอยากอ่านรายงานของเราตั้งแต่ต้นจนจบถือเป็นศิลปะอย่างนึง ออดิทมือใหม่มักจะมีปัญหาในเรื่องนี้
  4. ทักษะด้านการบริหารจัดการเวลา: ออดิทต้องสามารถจัดการเวลาและงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถดำเนินการตรวจสอบได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด
    • ทักษะในการทวงงานน้องในทีมถือเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราพูดห้วนๆว่า ‘เมื่อไหร่จะส่งงานให้พี่ ขอเย็นนี้นะ’ มันอาจทำให้น้องในทีมไม่อยากทำงานให้เรา แต่ถ้าเราไม่ทวงงานเลย ปล่อยไหล อันนี้โปรเจ็คก็พังเหมือนกัน การรู้จักสร้างสมดุลก็ถือเป็นศิลปะเช่นกัน
    • ถ้าพบว่าเอกสารมาช้า และจำเป็นต้องขยายเวลา Fieldwork อันนี้ออดิทต้องรีบแจ้งพี่เมเนเจอร์ให้ไว
  5. การมีคุณธรรมและจริยธรรม: ออดิทต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต และยึดมั่นในหลักจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ผลการตรวจสอบมีความถูกต้องและเชื่อถือได้
    • การมองเห็นประเด็นแต่แกล้งทำเป็นปิดตาข้างนึงแล้วไม่ใส่ประเด็นเข้าไปในรายงานเรื่องนี้ถือว่าผิดจรรยาบรรณในวิชาชีพ แต่ก็มีออดิทจำนวนนึงยังทำอยู่ เรื่องมักจะแดงตอนที่ออดิทคนนี้ลาออกไปแล้ว และมีออดิทคนใหม่มาตรวจแทนแล้วจ๊ะเอ๋ปัญหาที่ออดิทคนเก่าซุกไว้ใต้พรม
    • การไม่รับเงินใต้โต๊ะ หรือไม่รับของขวัญเกินกว่าที่นโยบายของบริษัทกำหนด ถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็มีออดิทจำนวนนึงทำตรงข้าม
  6. ทักษะด้านการประเมินความเสี่ยง: ออดิทต้องสามารถระบุและประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในองค์กร เพื่อให้สามารถวางแผนและดำเนินการตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    • การวางแผนการตรวจสอบไม่เป็น เช่น เลือกตรวจในหัวข้อที่ความเสี่ยงต่ำเพราะทำตาม Audit Program ของปีก่อนแบบสิ้นคิด แต่หัวข้อที่มีความเสี่ยงสูงกลับไม่เลือกมาตรวจ อันนี้ก็เป็นปัญหาของออดิทมือใหม่เช่นกัน
  7. ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต: ออดิทที่ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว คิดว่าตัวเองเก่งรู้ทุกอย่างแล้ว จะหยุดพัฒนา
    • คนส่วนใหญ่เลือกเสพความรู้ไม่กี่ด้าน เฉพาะที่ตัวเองสนใจ ทำให้ถูกเอไอล้างสมองเวลาเล่นโซเชียลมีเดีย เพราะเอไอมันจะจำว่าเราชอบคอนเทนต์แบบไหน แล้วมันจะฟีดให้เราเห็นแต่คอนเทนต์แบบนั้นทั้งชีวิต หมายความว่าเราต้องหัด crack อัลกอริทึมของเอไอโดยการเลือกเสพคอนเทนต์ที่เราไม่ได้สนใจบ้างเพื่อจะทำให้เรามีความรู้รอบด้าน ซึ่งคนส่วนใหญ่ในโลกไม่คิดจะทำแบบนี้ เลยโดนเอไอล้างสมองถาวร
  8. ทักษะในการทำงานร่วมกับคนอื่น: งานออดิทเป็นงานที่ต้องเจอคนเยอะ ทั้งคนในทีม เพื่อนต่างแผนก คนในออฟฟิศ และลูกค้า
    • การไม่คุยกับใครเลยหรือปิดกั้นการสื่อสารจะทำให้บรรยากาศการทำงานแย่ลง คนที่เป็นอินโทรเวิร์ดมักจะมีปัญหาในเรื่องนี้
    • ทักษะในการเจ๊าะแจ๊ะคนในทีมอย่างพอเหมาะ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไ่มได้ เพราะมันช่วยสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี
    • การบริหารหัวหน้า บริหารเพื่อนร่วมงาน บริหารน้องในทีม และบริหารลูกค้าถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
      • การทำทุกอย่างที่หัวหน้าสั่งทั้งๆที่ตัวเองงานท่วม หรือเราเป็นทุกข์แล้วไม่บอกหัวหน้าจะทำให้เราเบิร์นเอาท์ สภาพจิตใจพัง และส่งผลต่อผลงานในที่สุด
      • ถ้าหัวหน้ามอบหมายงานให้เรากับเพื่อนร่วมงานไปแบ่งงานกันเองสองคน แต่เพื่อนร่วมงานเอาเปรียบเรา เอางานง่ายๆไปทำ แล้วโยนงานยากๆให้เราทำ เราต้องมีวิธีรับมือ สื่อสารและแก้ปัญหา
      • บางทีเราต้องรู้จักสังเกตสีหน้าของน้องในทีมว่ายังมีความสุขกับงานที่ทำอยู่หรือเปล่า หรือเค้ามีปัญหาส่วนตัวอะไรให้เราช่วยมั้ย
      • ถ้าลูกค้าไม่ยอมให้เอกสาร เราต้องมีวิธีบริหารจัดการ
  9. ความฉลาดทางอารมณ์: การไม่เอาเรื่องไม่สบายใจมาคิดวนซ้ำ การไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ การไม่คล้อยตามคนอื่น การไม่เหวี่ยงใส่คนอื่น หรือการนิ่งเฉยเวลาคนอื่นเหวี่ยงใส่ สิ่งเหล่านี้ต้องผ่านการฝึกฝนตลอดระยะเวลาอันยาวนาน
  10. ทักษะในการปรับตัว: ผมเคยเจอเหตุการณ์ที่ผู้บริหารแผนกออดิทโดนเลย์ออฟยกชุด ทำให้ต้องมีหัวหน้าคนใหม่ เราต้องมีทักษะในการปรับตัวให้เข้ากับสไตล์ของหัวหน้าคนใหม่ด้วย รู้จักโอนอ่อนผ่อนตามบ้าง เหมือนกิ่งไผ่ที่ลู่ลม แต่ต้องอยู่ในกรอบของความถูกต้องด้วย

โดยสรุป ทักษะเหล่านี้จะช่วยให้ออดิทสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพ และช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับองค์กรในการดำเนินธุรกิจต่อไป

ลูกค้าให้เอกสารช้า ออดิททำไงดี? https://youtu.be/SGoeLHpA6Sg?si=fGbHsyUYQD6C3TlQ

อีบุ๊คคู่มือออดิทมือใหม่

อีบุ๊คไอทีออดิท101

อีบุ๊คตรวจสอบภายใน101

เป้ แนะแนว
เป้ แนะแนว

เป้ แนะแนวจบปริญญาตรีจากคณะบัญชี จุฬาฯ มีประสบการณ์ทำงานด้านไอทีออดิทมากว่าสิบปีในบริษัทบิ๊กโฟร์อย่าง KPMG กับ Deloitte จนเป็น Certified Information Systems Auditor (CISA) เคยเป็นทหารเกณฑ์ ปัจจุบันเป็นเน็ตไอดอลช่องติ๊กต่อกเป้ แนะแนวการศึกษาและอาชีพ และเจ้าของเพจรีวิวซีรีส์เกาหลีอย่าง Netflix Addict

Articles: 63

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *