ใบประกอบวิชาชีพออดิทในประเทศไทย: CPA, CISA และ CIA

งานออดิทถือเป็น1ในงานที่ได้เงินเดือนเยอะเป็นอันดับต้นๆของคนจบบัญชี

เป้าหมายของออดิทหลายคน คือการมีเงินเดือนหลักแสนตั้งแต่ก่อนอายุ30 ซึ่ง1ในหนทางที่จะไปสู่เป้าหมายนี้ได้คือการสอบใบประกอบวิชาชีพออดิท บทความนี้มุ่งเน้นไปที่ใบประกอบวิชาชีพ 3 ประเภทที่ได้รับความนิยมในวงการออดิทในประเทศไทย ได้แก่ CPA, CISA และ CIA รวมถึงอธิบายคุณสมบัติพื้นฐาน และขั้นตอนการสมัครสอบสำหรับใบประกอบวิชาชีพแต่ละประเภท

1. ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (Certified Public Accountant – CPA)

คุณสมบัติ:

  • อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
  • เรียนจบปริญญาตรีสาขาบัญชี (เป็นอย่างน้อย) จากมหาวิทยาลัยที่ได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพบัญชี
  • แจ้งการฝึกงานสอบบัญชี โดยยื่นเอกสารที่ใช้ประกอบก่อนเริ่มฝึกงาน ต่อสภาวิชาชีพบัญชี  มีการฝึกงานสอบบัญชีเป็นเวลาต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 ปีแต่ไม่เกิน 5 ปี นับจากวันยื่นคำขอแจ้งการฝึกงาน และมีเวลาฝึกงานรวมกันไม่น้อยกว่า 3,000 ชั่วโมง
  • สอบผ่านครบ 6 วิชา ได้แก่  วิชาการบัญชี 1  วิชาการบัญชี 2  วิชาการสอบบัญชี 1 การสอบบัญชี 2  วิชากฎหมายที่เกี่ยวกับการสอบบัญชี 1 และกฎหมายที่เกี่ยวกับการสอบบัญชี 2 และได้รับหนังสือแจ้งผลการสอบผ่าน ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต

ขั้นตอนการสมัคร:

  1. สมัครสอบทางระบบออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.tfac.or.th
  2. กรอกข้อมูลให้ถูกต้องและครบถ้วนและปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดทางระบบออนไลน์
  3. ก่อนการยื่นสมัครเข้ารับการทดสอบ CPA ให้ตรวจสอบและบันทึกข้อมูลที่อยู่ อีเมล ในระบบทะเบียนสมาชิกให้ครบถ้วน เพื่อประโยชน์ในการออกใบเสร็จรับเงินที่ถูกต้องและรวดเร็วผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt
  4. ผู้สมัครสอบครั้งแรก ให้กรอกข้อมูลรับสมัครสอบทางระบบออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.tfac.or.th ให้เสร็จสิ้นภายในวัน-เวลาที่กำหนดในเว็บไซต์ เพื่อเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบคุณสมบัติก่อน เมื่อผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้วจะแจ้งให้ผู้สมัครสอบทำการเลือกสมัครสอบตามรายวิชาที่มีสิทธิสอบต่อไป
  5. ต้องดำเนินการชำระเงินภายในวัน-เวลาที่กำหนดในเว็บไซต์ เท่านั้น
  6. เมื่อฝึกงานครบ3ปี เก็บชั่วโมงครบ 3,000 ชั่วโมง และสอบผ่านทั้ง 6 วิชาแล้ว ให้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตพร้อมชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตภายใน 6 เดือนนับจากวันสิ้นเดือนที่ผ่านการฝึกงานและการสอบ

สรุป:

ใครที่ได้ CPA ถือว่าร่างทองและมีโอกาสรวยได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการได้โปรโมทเป็น Audit Manager ในบริษัทบิ๊กโฟร์ หรือไปทำงานใน Corporate ในตำแหน่ง CFO หรือออกไปเปิดสำนักงานบัญชีเป็นของตัวเองเพื่อรับเซ็นงบ

2. ผู้ตรวจสอบระบบสารสนเทศรับอนุญาต (Certified Information Systems Auditor – CISA)

คุณสมบัติ:

  • ปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ หรือเทียบเท่า
  • ประสบการณ์ทำงานด้านระบบสารสนเทศอย่างน้อย 5 ปี โดย 2 ปีในจำนวนนี้ต้องเป็นการทำงานด้านการตรวจสอบระบบสารสนเทศ

ขั้นตอนการสมัคร:

  1. สมัครสอบออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.isaca.org
  2. อ่านขั้นตอนการสมัคร 4 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกจะต้องตรวจสอบก่อนว่า สถานที่ที่ต้องการไปสอบมีวัน-เวลาสอบว่างให้ลงทะเบียนวันไหนบ้าง
  3. กลับไปหน้าขั้นตอนสมัครในข้อ 1 คลิกเลือกลงทะเบียนวุฒิบัตร CISA ในช่วงเวลาที่ต้องการ
  4. ชำระเงินค่าสอบ โดยใช้บัตรเครดิตชำระทางออนไลน์
  5. เลือกวันสอบ
  6. หากยังไม่ได้เป็นสมาชิก ISACA แนะนำให้สมัครสมาชิก ISACA ก่อน เมื่อสมัครสมาชิกและชำระเงินออนไลน์เรียบร้อยแล้ว จะสามารถสมัครสอบต่อได้ทันทีโดยได้รับส่วนลดเมื่อลงทะเบียนสอบในฐานะสมาชิก และจะได้รับส่วนลดของสมาชิกถึง 185 ดอลล่าร์สหรัฐ  (ค่าธรรมเนียมสอบปกติสูงถึง 760 ดอลล่าร์สหรัฐ ในขณะที่ราคาสมาชิกแค่ 575 ดอลล่าร์สหรัฐเท่านั้น) ในขณะที่ค่าสมัครสมาชิกใหม่ของ ISACA จะอยู่ที่ 155 ดอลล่าร์สหรัฐ (เต็มปี) หรือ 88 ดอลล่าร์สหรัฐ (ครึ่งปี) เท่านั้น
  7. ข้อสอบ CISA ไม่มีภาษาไทย เราต้องเลือกเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น ข้อสอบมี 5 โดเมน
    • กระบวนการตรวจสอบระบบสารสนเทศ (INFORMATION SYSTEMS AUDITING PROCESS)
    • การกำกับดูแลและบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ (GOVERNANCE AND MANAGEMENT OF IT)
    • กระบวนการพัฒนาระบบ (INFORMATION SYSTEMS ACQUISITION, DEVELOPMENT AND IMPLEMENTATION)
    • การปฏิบัติการเชิงสารสนเทศและความยืดหยุ่นทางธุรกิจ (INFORMATION SYSTEMS OPERATIONS AND BUSINESS RESILIENCE)
    • การปกป้องสินทรัพย์สารสนเทศ (PROTECTION OF INFORMATION ASSETS)
  8. เกณฑ์การสอบผ่านคือ สอบให้ได้คะแนนรวมตั้งแต่75%ขึ้นไป

สรุป:

หลักจากการบูมของยุค Generative AI ใครที่ได้ CISA ก็จะเป็นที่ต้องการตัวในสายงาน IT Audit และสามารถเรียกเงินเดือนหลักแสนได้สบาย

3. ผู้ตรวจสอบภายในรับอนุญาต (Certified Internal Auditor – CIA)

คุณสมบัติ:

ผู้สมัครสอบจะต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้

  • จบการศึกษาระดับปริญญาตรี และมีประสบการณ์ทำงานด้านตรวจสอบภายใน หรือ งานที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อย 2 ปี
  • จบการศึกษาระดับปริญญาโทหรือสูงกว่า และมีประสบการณ์ทำงานด้านตรวจสอบภายใน หรืองานที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อย 1 ปี
  • จบการศึกษาระดับอนุปริญญา จะต้องมีประสบการณ์การทำงานด้านตรวจสอบภายใน หรืองานที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อย 5 ปี
  • หากการศึกษาต่ำกว่าระดับอนุปริญญา จะต้องมีประสบการณ์การทำงานด้านตรวจสอบภายใน หรืองานที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อย 7 ปี
  • เป็นนักศึกษาเต็มเวลาในสาขาใดก็ได้ที่กำลังศึกษาอยู่ในปีสุดท้ายหรือต้องลงทะเบียนเรียนมาแล้ว 12 เทอม

ขั้นตอนการสมัคร:

  1. สมัครสอบทางระบบออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.theiia.org ได้ตลอดทั้งปี
  2. การสอบ CIA มีระยะเวลา 3 ปี เราสามารถขยายระยะเวลาสอบได้ 1 ปีต่อการเปิดโปรแกรมการสอบ 1 ครั้ง
  3. สอบได้ทั้งแบบออนไลน์และแบบนั่งสอบในห้องสอบ
  4. ข้อสอบมี 2 ภาษาให้เลือก คือ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
  5. การสอบแต่ละ Part สามารถสอบได้ part ละไม่เกิน 8 ครั้งต่อการเปิดโปรแกรมการสอบ 1 ครั้ง ถ้าสอบ Part นั้นๆ ครบ 8 ครั้งแล้วยังสอบไม่ผ่าน ถือว่าโปรแกรมการสอบครั้งนั้นจบสิ้นทันที
  6. การลงสอบซ้ำใน Part เดียวกันจะต้องรอเวลาอย่างน้อย 30 วัน
  7. เมื่อสอบผ่านครบทั้ง 3 Part ภายในระยะเวลาโปรแกรม จะได้รับวุฒิบัตร CIA สามารถดาวน์โหลดวุฒิบัตรเป็นไฟล์ PDF ได้จากระบบ CCMS

สรุป:

ใครที่ได้ CIA จะเป็นที่ต้องการตัวในสายงาน Internal Audit เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยส่วนใหญ่ต้องการ Chief Audit Executive (CAE) ที่มี CIA ทั้งสิ้น

จริงๆแล้วใบประกอบวิชาชีพในสายงานออดิทในประเทศไทยมีนอกเหนือจากนี้อีกเป็นสิบใบ แต่ใบประกอบวิชาชีพ3ใบนี้ถือว่าเป็นที่นิยมที่สุดในการอัพค่าตัวให้ได้เงินเดือนเกินหลักแสนก่อนอายุ30 ในความเห็นของผม

CISA คืออะไร ดียังไง ทำยังไงให้ได้มา?

แหล่งข้อมูล:

สภาวิชาชีพบัญชี

IIA Thailand

ISACA Bangkok Chapter

สั่งซื้ออีบุ๊ค:

อีบุ๊คคู่มือออดิทมือใหม่

อีบุ๊คไอทีออดิท101

อีบุ๊คตรวจสอบภายใน101

เป้ แนะแนว
เป้ แนะแนว

เป้ แนะแนวจบปริญญาตรีจากคณะบัญชี จุฬาฯ มีประสบการณ์ทำงานด้านไอทีออดิทมากว่าสิบปีในบริษัทบิ๊กโฟร์อย่าง KPMG กับ Deloitte จนเป็น Certified Information Systems Auditor (CISA) เคยเป็นทหารเกณฑ์ ปัจจุบันเป็นเน็ตไอดอลช่องติ๊กต่อกเป้ แนะแนวการศึกษาและอาชีพ และเจ้าของเพจรีวิวซีรีส์เกาหลีอย่าง Netflix Addict

Articles: 63

One comment

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *