เมื่อถึงช่วงจับใบดำใบแดงในเดือนเมษายนของทุกปี คนที่จับได้ใบแดงมักจะกังวลว่า เวลาเราไปเข้าค่ายทหารวันแรก เราจะต้องเตรียมอะไรไปบ้าง และไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เตรียมไปจะถูกกฎกติกาของค่ายทหารหรือเปล่า วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจกันครับ
วันแรกที่เข้าค่ายนั้นเป็นช่วงที่ทหารเกณฑ์ต้องเตรียมและจัดเตรียมสิ่งของต่างๆ ให้พร้อม ซึ่งสิ่งที่ควรเตรียมมีดังนี้:
- เอกสารสำคัญ
- บัตรประชาชน (ตัวจริง)
- สำเนาบัตรประชาชน
- ใบรับรองผลการตรวจเลือก (สด.43)
- หมายนัดเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.40)
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- บัตรประกันสุขภาพ หรือบัตรประกันสังคม (ถ้ามี)
- คนที่สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้นำหลักฐานใบระเบียนแสดงผลการเรียนที่แสดงว่าจบชั้นประถมศึกษา หรือมัธยมศึกษาตอนต้น พร้อมรูปถ่ายขนาด 1 นิ้วจำนวน 3 รูป (เพื่อใช้สมัครเรียน กศน.) ค่ายทหารส่วนใหญ่จะถามความสมัครใจของเราตั้งแต่วันแรกว่า เราอยากจะเรียนกศน.ในค่ายหรือไม่ แต่ก็มีบางค่ายทหารที่ไม่ส่งเสริมการเรียนกศน.ด้วย การจะได้เรียนกศน.หรือไม่ถือว่าแล้วแต่ดวงเลยทีเดียว
2. เสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัว
- แต่งกายชุดสุภาพหรือชุดกีฬาเพื่อความสะดวก เช่น เสื้อ กางเกง กางเกงใน และรองเท้าแตะ ให้นำไปเพียงชุดเดียวเท่านั้น
- ของใช้พวก ครีมอาบน้ำ สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ไม่จำเป็นต้องเตรียมไปก็ได้ เพราะเค้ามีแจกให้ทั้งหมด
- โทรศัพท์มือถือไว้ติดต่อญาติตอนไปถึง
- เงินสดติดตัวประมาณ500บาท สำหรับเดินทางไปค่ายหรือซื้อของจากร้านค้า Px (ร้านขายของชำในค่าย) ก่อนเงินเดือนเดือนแรกออก แต่จริงๆแล้วร้านค้า Px มีระบบให้ทหารใหม่ลงชื่อไว้ก่อนว่าซื้ออะไรไปบ้าง พอเงินเดือนออกตอนสิ้นเดือนค่ายมาจ่ายชำระหนี้
- มีอาหารให้ทานวันละ3มื้อ จึงไม่จำเป็นต้องพกเงินสดติดตัวไปเยอะ
- ถ้าไม่อยากพกเงินสดเยอะ ให้นำบัตร ATM ไปด้วย
- ยารักษาโรค สำหรับคนที่มีโรคประจำตัว พร้อมแจ้งครูฝึกเรื่องโรคประจำตัว (ถ้ามี)
- แว่นตา เอาไว้ใส่ตอนฝึกได้
- ไม่ควรนำของมีค่าไป เช่น สร้อย แหวน เครื่องประดับ เพราะเสี่ยงที่จะถูกขโมย เนื่องจากกุญแจล็อกเกอร์ที่เค้าแจกให้ทหารใหม่แค่ใครเอาก้อนหินมาทุบทีเดียวกุญแจก็พังแล้ว
- ห้ามนำแอลกอฮอล์ และบุหรี่ไปเพราะจะถูกยึดถาวร
นอกเหนือจาก2ข้อด้านบน ไม่จำเป็นต้องเตรียมอะไรไปอีกนอกเหนือจากนี้ เพราะทางค่ายทหารจะยึดไว้ทั้งหมด เช่น สร้อย แหวน เงินสด และโทรศัพท์มือถือ สิ่งของเหล่านี้ทางค่ายจะคืนให้เราหลังจากฝึกหนักในช่วง6สัปดาห์แรกเสร็จก่อนที่จะปล่อยให้เราลากลับบ้าน ซึ่งระยะเวลาในการฝึกหนักของทหารแต่ละเหล่าและแต่ละค่ายจะไม่เท่ากัน
เป็นที่เลื่องลือกันว่ากางเกงในที่กองทัพแจกฟรีเนื้อผ้าหนาและอาจเกิดการเสียดสีขาหนีบในระหว่างฝึกจนเป็นแผลเลือดซิบๆได้ หลายคนเลยหัวใสเตรียมกางเกงในราคาแพงที่มีเนื้อผ้าระบายอากาศได้ดีเพื่อไปใช้ในค่าย แต่บางคนโชคร้ายโดนทางค่ายยึดกางเกงในไปเลยก็มี บางคนโชคดีเค้าไม่ยึดก็มี หมายความว่าถ้าใครอยากเสี่ยงก็เอาไปได้ แต่ไม่รับประกันว่าเค้าจะไม่ยึดนะครับ
ไม่น่าเชื่อว่าในค่ายทหารจะมีโจรขโมยกางเกงในด้วย เพราะทุกปีจะมีคนถูกขโมยกางเกงในที่เราเอาไปแขวนตากแดดไว้เสมอ เมื่อคนร้อยพ่อพันแม่มารวมตัวกัน ความบันเทิงเลยเกิดขึ้นเป็นประจำ
หลายคนสงสัยว่าเราควรจะตัดผมล่วงหน้าไปก่อนมั้ย คำตอบคือควรตัดผมไปก่อนครับ เพราะถ้าเราไปต่อคิวตัดผมในค่ายทหารวันแรก เราอาจต้องใช้เวลารอคิวนานเป็นชั่วโมงเลยเพราะคนเยอะ และบางทีมีกรณีที่ปัตตาเลียนใช้งานหนักจนร้อนทำให้มันดึงผมเราเจ็บก็มี ถ้าจะตัดผมมาล่วงหน้าให้บอกช่างตัดผมว่าบริเวณผมด้านบนใช้รองหวีเบอร์1 ส่วนด้านข้างไถเกรียนทั้งหมด ตรงจอนให้โกนเป็นเส้นตรงแนวนอนตัดประมาณกลางหู ควรจะโกนหนวดเคราและตัดเล็บให้เรียบร้อยเช่นกัน
สำหรับคนที่มีน้ำหนักตัวเกิน ถ้าเป็นไปได้ควรจะลดน้ำหนักลงมาให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและฟิตร่างกายให้ชินก่อนเข้าค่าย เพราะในช่วงฝึกหนัก6สัปดาห์แรกจะมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายตลอดเวลา เช่น การวิ่งออกกำลังกายเช้า-เย็น ถ้าน้ำหนักตัวเรามากก็จะทำให้เหนื่อยง่าย
หลายคนสงสัยว่าเราสามารถขับรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ไปจอดไว้ในค่ายทหารได้มั้ย คำตอบคือ ค่ายทหารไม่อนุญาตให้ทหารเกณฑ์นำรถยนต์มาจอดในค่าย แต่ก็มีบางค่ายที่อนุญาตทหารเกณฑ์นำรถมอเตอร์ไซค์มาจอดได้ และต้องไปจอดเรียงกันในโรงรถ ผู้บังคับบัญชากองร้อยก็จะใช้โซ่ยาวๆ คล้องล้อรถเอาไว้เรียงกันเป็นตับ จากนั้นก็ยึดกุญแจรถเก็บไว้
พอถึงเวลาที่ให้ทหารเกณฑ์ลากลับบ้าน เขาก็จะปลดโซ่ออก แล้วคืนกุญแจรถให้เรา แต่ส่วนใหญ่ถ้าเป็นทหารใหม่ ทางค่ายจะไม่อนุญาตให้นำรถมาจอด
การเตรียมสิ่งของเหล่านี้จะช่วยให้ทหารใหม่สามารถปรับตัวและเข้ากับชีวิตในค่ายทหารได้อย่างราบรื่น และควรจัดเตรียมให้เรียบร้อยก่อนวันเข้ารายงานตัวนะครับ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง ทหารใหม่เข้าค่ายวันแรกมีกิจกรรมอะไรบ้าง?
เข้าค่ายทหารวันแรก ต้องเตรียมอะไรไปบ้าง? https://youtu.be/b-MRGDaOWhc?si=owXpaTt_FCrHH3Ju
สนใจซื้ออีบุ๊ค คู่มือเกณฑ์ทหารโดย(ไม่)สมัครใจ คลิกลิงก์ https://peyconsulting.com/shop/