สรุปเงินหมื่นดิจิทัลล่าสุด ใครได้ก่อนบ้าง และได้เท่าไหร่?

หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายเงินหมื่นดิจิทัลในปีก่อนสมัยนายกเศรษฐา ผมจำได้ว่านโยบายดูสวยหรู เพราะบอกว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วย แต่พอ1ปีผ่านไป สถานการณ์ตอนนี้เหมือนหนังคนละม้วน เพราะหลังจากนายกเศรษฐาพ้นจากตำแหน่งนายก แล้วนายกอุ๊งอิ๊งขึ้นแทน นโยบายเงินหมื่นดิจิทัลก็กลายเป็นนโยบายแจกเงินสด1หมื่นบาทแทน ส่วนเงินดิจิทัลกลับกลายเป็นแค่กิมมิคหรือนโยบายที่ทำให้ดูสวยหรูเท่านั้น

เนื่องจากระบบหลังบ้านยังไม่เสร็จจึงยังมีความไม่แน่นอนอยู่ อาจทำให้รัฐบาลต้องแจกประชาชนทั่วไปส่วนนึงเป็นเงินสดแทน สวนทางกับคำพูดของอดีตนายกทักษิณบนเวที Vision for Thailand 2024 ในเดือนที่ผ่านมา ที่บอกว่าเงินดิจิทัลจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตรงจุดมากกว่า แต่พอตอนแจกเงินจริงกลับมีสัดส่วนของเงินดิจิทัลเพียงน้อยนิด ผมนึกแล้วได้แต่ขำหึๆ

รวมถึงความชัดเจนในการลงทะเบียนผ่านแอปทางรัฐก็ไม่ค่อยมี พูดกลับไปกลับมา สุดท้ายก็เลื่อนวันแจกเงินให้กลุ่มเปราะบางอีกจนได้จากวันที่20ก.ย.เป็นวันที่25ก.ย.นี้ จนได้ข้อสรุปตามภาพนี้

ข้อแรก คนที่ถือบัตรคนจนหรือบัตรคนพิการ ไม่ต้องลงทะเบียนดิจิทัลวอลเลท และจะได้รับเงินสด1หมื่นบาทเข้าบัญชีในวันที่25ก.ย.นี้ ผ่านพร้อมเพย์ที่ผูกด้วยเลขบัตรประชาชน

แต่สิ่งที่ผู้ถือบัตรคนจนต้องเช็คคือ ถ้าใครได้บัตรคนจนมาตั้งแต่2ปีก่อนแต่ยังไม่ได้ไปยืนตัวตนตนที่ธนาคารกรุงไทย ให้รีบไปจัดการทันที ไม่งั้นจะไม่ได้รับเงิน1หมื่นบาทตรงนี้ ในขณะที่ผู้ถือบัตรคนพิการก็ต้องเช็คด้วยว่าบัตรของตัวเองหมดอายุหรือยัง ตามปกติบัตรคนพิการจะมีอายุ8ปี ถ้าหมดอายุแล้วให้รีบไปทำบัตรใหม่ ไม่งั้นจะไม่ได้รับเงินหมื่นนี้เช่นกัน

ข้อ2 สำหรับประชาชนทั่วไป ยังไม่มีความแน่นอน เนื่องจากระบบหลังบ้านที่ใช้จ่ายเงินดิจิทัลยังไม่เสร็จ ทำให้การแจกเงินแบ่งออกเป็น2ทางเลือกคือ

1. ถ้าระบบเสร็จไม่ทันเดือนต.ค.นี้ รัฐบาลอาจจะแจกเงินสด5,000บาทก่อนเป็นก้อนแรกในไตรมาส4/2567 แต่รัฐบาลยังไม่บอกว่าจะโอนเข้าทางไหน เช่น ทางพร้อมเพย์ หรือทาง E-Money ส่วนก้อนที่2 รัฐบาลจะแจกเป็นเงินดิจิทัล5,000 ในปี2568

2. ถ้าระบบเสร็จทัน รัฐบาลจะแจกเงินดิจิทัล10,000บาทเต็มจำนวนในไตรมาส4ปี2567 แต่รัฐบาลยังไม่บอกว่าจะโอนเข้าทางไหน เช่น ทาง E-Money หรือแอปเป๋าตังกันแน่

หลังจากผมไลฟ์สดตอบคำถามเรื่องนี้มานานเดือนกว่าๆ ผมพบว่า รัฐบาลมีปัญหาในการสื่อสารกับประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในรายละเอียด เช่น

  • คนพิการที่ไม่มีบัญชีออมทรัพย์ และไปรับเงินคนพิการเป็นเงินสดรายเดือนที่อบต. ในกรณีนี้ คนพิการกลุ่มนี้ต้องทำยังไงต่อ เช่น ไปเปิดบัญชีออมทรัพย์ของตัวเองแล้วผูกพร้อมเพย์ หรือต้องมอบอำนาจให้คนในบ้านไปทำแทน หรือใช้บัญชีผู้ดูแลรับเงินแทน เป็นต้น
  • คนพิการที่มีบัญชีออมทรัพย์อยู่แล้วและรับเงินคนพิการรายเดือนเข้าบัญชีนี้ จำเป็นต้องไปผูกพร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชนอีกหรือไม่
  • คนพิการบางคนเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่มีผู้ดูแล และทุกวันนี้รับเงินคนพิการรายเดือนเข้าบัญชีผู้ดูแล กรณีนี้คนพิการจำเป็นต้องไปเปิดบัญชีของตัวเองแล้วผูกพร้อมเพย์หรือไม่ หรือจะโอนให้ผ่านช่องทางเดิม
  • ผู้ถือบัตรคนจนที่ถูกอายัดบัญชี รัฐบาลจะโอนเงินให้คนกลุ่มนี้ยังไง
  • บุคคลล้มละลายเปิดบัญชีไม่ได้ รัฐบาลจะโอนเงินให้คนกลุ่มนี้ยังไง
  • ทำไมคนแก่ติดเตียงที่ไม่มีบัตรคนพิการ ถึงไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง
  • ทำไมมีคนรวยบางคนถึงได้สิทธิบัตรคนจน รัฐบาลน่าจะมีวิธีตรวจสอบที่เข้มงวดกว่านี้
  • ผู้ถือบัตรคนจนบางคนผูกพร้อมเพย์เองไม่เป็นผ่านแอปธนาคารบนสมาร์ทโฟน เลยเดินทางไปที่สาขาของธนาคารเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำให้ แต่กลับโดนเจ้าหน้าที่ไล่กลับบ้าน ไม่ยอมทำให้ อ้างว่าไม่ใช่หน้าที่

ทุกวันนี้ผมต้องมานั่งตอบคำถามเหล่านี้แทนรัฐบาล ทั้งๆที่ผมเป็นแค่ประชาชนตาดำๆคนนึงเหมือนผู้อ่าน ผมได้แต่นั่งส่ายหน้ากับผลงานของรัฐบาลชุดนี้ วันที่ผมเขียนบทความนี้คือวันที่ 13 กันยายน 2567 แต่รายละเอียดที่สำคัญข้างต้นยังไม่มีการแจ้งให้ประชาชนรู้แม้แต่น้อย

สนใจอีบุ๊ค สั่งซื้อได้ที่นี่ https://peyconsulting.com/shop/

เป้ แนะแนว
เป้ แนะแนว

เป้ แนะแนวจบปริญญาตรีจากคณะบัญชี จุฬาฯ มีประสบการณ์ทำงานด้านไอทีออดิทมากว่าสิบปีในบริษัทบิ๊กโฟร์อย่าง KPMG กับ Deloitte จนเป็น Certified Information Systems Auditor (CISA) เคยเป็นทหารเกณฑ์ ปัจจุบันเป็นเน็ตไอดอลช่องติ๊กต่อกเป้ แนะแนวการศึกษาและอาชีพ และเจ้าของเพจรีวิวซีรีส์เกาหลีอย่าง Netflix Addict

Articles: 63

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *