เบื่องาน… มีทางเลือกอะไรบ้าง?

สาวกำลังเบื่องาน

เคยมั้ย? ตอนเช้ารู้สึกไม่อยากลุกออกจากที่นอนเพื่อตื่นไปทำงาน รู้สึกเบื่อหน่ายกับงานที่ทำ รู้สึกเดิมๆ ความท้าทายลดลง ไร้ซึ่งแรงจูงใจ บางคนถึงขั้นหมดไฟในการทำงานไปเลย

หากคุณกำลังประสบกับภาวะนี้ บอกได้เลยว่าไม่ใช่คุณคนเดียว ยังมีอีกหลายคนที่รู้สึกแบบเดียวกัน ตัวผมเองก็เคยมีอาการหมดไฟจนถึงขนาดต้องไปพบจิตแพทย์เลยทีเดียว

แต่ไม่ต้องกังวลไปครับ ชีวิตยังมีพรุ่งนี้เสมอ! เพลงของพี่ตูน บอดี้สแลมลอยมาเลย 555

บทความนี้ผมขอเสนอทางเลือกให้กับคนที่กำลังเบื่องานครับ

1. หาสาเหตุของความเบื่อหน่าย:

ลองวิเคราะห์ตัวเองว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้คุณเบื่องาน เหตุผลของการเบื่องานมีร้อยแปดพันเก้า เช่น

  • เนื้องานที่ซ้ำซากจำเจ ไม่มีสิ่งท้าทายใหม่ๆ
  • เนื้องานที่ทำอยู่ ยากเกินความสามารถของเรา
  • เจ้านายมอบหมายงานให้ทำจนล้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
  • บรรยากาศการทำงานที่ไม่ดี เช่น เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย หรือลูกน้อง toxic มีการซุบซิบนินทาลับหลังกันในที่ทำงานตลอดเวลา
  • ต้องทำงานกับคนที่เราเกลียดในแผนก
  • การเมืองในที่ทำงาน เช่น เราทำงานให้ผู้จัดการ2คน แต่ผู้จัดการ2คนนี้เกลียดกัน แล้วเอาเราไปอยู่ในสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก
  • รู้สึกว่างานที่ทำ ไม่ตอบโจทย์ความหมายของชีวิต
  • ต้องขับรถไปทำงานทุกวันแล้วเจอรถติดทั้งขาไปและขากลับรวมกัน3ชั่วโมงขึ้นไป
  • เบื่อวัฒนธรรมองค์กรที่ซีเรียสกับการตรวจสอบชั่วโมงการแตะบัตรเข้า-ออกบริษัท มากกว่าการเน้นดูผลงาน
  • ไม่เห็นด้วยกับผลการประเมินผลงานประจำปีซึ่งออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ไม่ได้ปรับเงินเดือนขึ้น หรือได้โบนัสน้อย ทั้งๆที่ทุ่มเททำงานหามรุ่งหามค่ำมาตลอดปี
  • บริษัทมีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องมานานหลายปี จนจ่ายโบนัสไม่ได้
  • ถูกบูลลี่ในที่ทำงาน
  • ถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน
  • โดนเจ้านายตามงานช่วงลาพักร้อน
  • กำลังตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า หรือบางทีอาจเป็นโรคซึมเศร้าไปแล้วก็ได้ ให้ลองทำแบบประเมินโรคซึมเศร้าทางออนไลน์ดู
  • ไม่มีเป้าหมายในชีวิต
  • มีเป้าหมายชีวิตหลายข้อเกินไป แต่บริหารจัดการได้ไม่ดี เช่น ไปเน้นเป้าหมายเรื่องงานอย่างเดียว ทำให้บ้างานจนลืมให้เวลาครอบครัว

เมื่อรู้สาเหตุแล้ว เราจะสามารถหาวิธีแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด

2. พูดคุยกับหัวหน้างานหรือฝ่ายบุคคล:

หากสาเหตุของความเบื่อหน่ายมาจากเนื้องาน ลองพูดคุยกับหัวหน้างานเพื่อขอเปลี่ยนไปทำงานด้านอื่นในแผนก หรือของานใหม่ๆ ที่เรารู้สึกว่าท้าทาย แต่กรณีงานล้น เราต้องสื่อสารให้เพื่อนร่วมงานหรือให้หัวหน้ารู้ เผื่อหัวหน้าจะหาคนมาทำงานบางอย่างแทนเรา หรืออาจขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานก็ได้

หัวหน้างานที่ดีจะรับฟังปัญหาและช่วยหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสม หากปรึกษาหัวหน้างานและผู้จัดการแผนกแล้ว ยังมีปัญหาบางอย่างที่แก้ไม่ได้ เราอาจต้องแจ้งฝ่ายบุคคลให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่อไป

3. ปรับเปลี่ยนมุมมอง:

เคยมีคำกล่าวที่ว่า ‘เราเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนความคิดของเราที่มีต่อสถานการณ์ต่างๆได้’ คนส่วนใหญ่พยายามเปลี่ยนแปลงคนอื่นซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ ให้เราลองมองหามุมมองใหม่ๆ ในงานที่ทำ มองหาโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พัฒนาตัวเอง คิดบวก มองหาแง่ดีของงาน

ความคิดที่ว่า ‘ตัวเราตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ หรือเป็นเหยื่อของสถานการณ์แย่ๆที่เกิดขึ้น’ มักจะทำให้เราชอบโทษสิ่งรอบตัว และยอมแพ้ต่อปัญหา มุมมองของเราต่อปัญหาเป็นเรื่องสำคัญมาก

4. หางานอดิเรกทำ:

หากรู้สึกเบื่อหน่ายกับงานประจำ ลองหางานอดิเรกทำในเวลาว่าง เช่น การออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่เราชอบ งานอดิเรกจะช่วยให้เราผ่อนคลาย เพิ่มพลังงาน และค้นพบความสนใจใหม่ๆ

5. ลาพักร้อน:

บางครั้งร่างกายและจิตใจอาจต้องการการพักผ่อน ลองใช้เวลาลาพักร้อนเพื่อไปเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ การได้พักผ่อนจะช่วยให้คุณกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

6. ลาออกเพื่อหางานใหม่:

หากลองทุกวิธีแล้ว ยังรู้สึกเบื่อหน่ายกับงานที่ทำ อาจจะถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจลาออกเพื่อหางานใหม่ งานใหม่ที่มีความท้าทาย เหมาะกับความสามารถและความสนใจ อาจจะเป็นคำตอบที่คุณกำลังมองหา บางทีเราอาจไม่เหมาะกับงานประจำก็ได้

7. เริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง:

หากคุณมีไอเดียธุรกิจ ลองศึกษาข้อมูล หาความรู้ และเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง การเป็นเจ้าของธุรกิจจะช่วยให้คุณรู้สึกมีอิสระ

8. พัฒนาตัวเอง:

ใช้เวลาว่างพัฒนาตัวเอง เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพิ่มพูนความรู้ การพัฒนาตัวเองจะช่วยให้คุณมีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หรือเปลี่ยนสายงานไปสู่สิ่งที่ตัวเองสนใจ

9. ใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนฝูง:

ทุ่มเทเวลาให้กับครอบครัวและเพื่อนฝูง พูดคุย ปรึกษา หาแรงบันดาลใจจากคนรอบข้าง

10. มองหาเป้าหมายใหม่:

ลองตั้งเป้าหมายใหม่ในชีวิต มองหาสิ่งที่คุณอยากทำ การมีเป้าหมายจะช่วยให้คุณมีแรงจูงใจและมุ่งมั่นในชีวิต

ความเบื่อหน่ายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน สิ่งสำคัญคือต้องหาสาเหตุและหาวิธีแก้ไข ลองนำแนวทางเหล่านี้ไปปรับใช้ดู

11. ปรึกษาจิตแพทย์:

หากลองทำตามทุกข้อแล้วยังแก้ปัญหาไม่ได้ ผมแนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์ครับ

ขอให้ทุกคนโชคดีครับ!

หาตัวเองยังไงให้เจอ? https://youtu.be/rHTY7XmfZgA?si=dJA6JhNkk8oBf3As

อีบุ๊คคู่มือเลือกอาชีพแห่งโลกอนาคต

อีบุ๊คคู่มือออดิทมือใหม่

อีบุ๊คไอทีออดิท101

อีบุ๊คตรวจสอบภายใน101

เป้ แนะแนว
เป้ แนะแนว

เป้ แนะแนวจบปริญญาตรีจากคณะบัญชี จุฬาฯ มีประสบการณ์ทำงานด้านไอทีออดิทมากว่าสิบปีในบริษัทบิ๊กโฟร์อย่าง KPMG กับ Deloitte จนเป็น Certified Information Systems Auditor (CISA) เคยเป็นทหารเกณฑ์ ปัจจุบันเป็นเน็ตไอดอลช่องติ๊กต่อกเป้ แนะแนวการศึกษาและอาชีพ และเจ้าของเพจรีวิวซีรีส์เกาหลีอย่าง Netflix Addict

Articles: 64

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *