หนึ่งในอาชีพสุดฮิตของสายออดิทที่ผมเคยทำคือ อาชีพผู้ตรวจสอบภายใน (Internal Auditor, IA) คนที่ทำอาชีพนี้มีโอกาสได้เงินเดือนหลักแสนตั้งแต่ก่อนอายุ30 เลยทีเดียว และตามปกติ IA จะทำงานอยู่ในแผนกตรวจสอบภายในของบริษัท
แล้วผู้ตรวจสอบภายในต้องทำอะไรบ้าง?
เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2024 ที่ผ่านมา หน่วยงาน The Institute of Internal Auditors (IIA) ได้ออกมาตรฐานสากลสำหรับการปฏิบัติงานวิชาชีพการตรวจสอบภายใน (Global Internal Audit Standards 2024) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี2025 และได้กำหนดบทบาทที่สำคัญของผู้ตรวจสอบภายในเอาไว้ด้วย
หน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายใน
- ให้ความเชื่อมั่นและคำแนะนำรวมถึงข้อมูลเชิงลึกและการมองภาพอนาคตแก่คณะกรรมการตรวจสอบและผู้บริหารอย่างเที่ยงธรรม ตามความเสี่ยง และเป็นอิสระ
- IA จะต้องมีความซื่อสัตย์ ความเที่ยงธรรม ความเชี่ยวชาญ ความระมัดระวัง และต้องรักษาความลับของบริษัท
- วางแผนและปฏิบัติงานตรวจสอบ สื่อสารผลลัพธ์ของงานตรวจสอบ และติดตามการดำเนินการตามคำแนะนำ
- หัวหน้าแผนกตรวจสอบภายใน (Chief Audit Executive, CAE)
- จะต้องทำงานและสื่อสารร่วมกันกับคณะกรรมการตรวจสอบและผู้บริหารขององค์กร
- ทำหน้าที่บริหารทรัพยากรต่างๆ เช่น บริหารงบประมาณของแผนก บริหารคน และบริหารเทคโนโลยีที่มีอยู่
- จัดทำแผนกลยุทธ์ของแผนก และพัฒนาคุณภาพงานตรวจสอบในภาพรวม
ข้อดีของอาชีพผู้ตรวจสอบภายใน
อาชีพผู้ตรวจสอบภายใน มีข้อดีเยอะแยะ ถ้าให้พูดทั้งวันก็ไม่หมด
1. โอกาสเติบโตในสายอาชีพ:
- ความต้องการผู้ตรวจสอบภายในที่มีทักษะและประสบการณ์ ยังมีอยู่มากในองค์กร
- ผู้ตรวจสอบภายในมีโอกาสก้าวหน้าในสายงานและรับตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบสูง เช่น ผู้จัดการ ผู้อำนวยการ หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบภายใน และคณะกรรมการตรวจสอบ
- ในช่วงแรก ผู้ตรวจสอบภายในสามารถเปลี่ยนสายงานไปทำงานในสายงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ เช่น ผู้สอบบัญชี ไอทีออดิท เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เจ้าหน้าที่งานกำกับดูแล และเจ้าหน้าที่บริหารความเสี่ยง
2. เงินเดือนดี:
- ผู้ตรวจสอบภายในที่มีวุฒิบัตร CIA, CISA หรือ CPA อาจได้รับเงินเดือนหลักแสนตั้งแต่อายุก่อน30 เลยทีเดียว
- เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับผู้ตรวจสอบภายในที่ไม่มีประสบการณ์ในบริษัทบิ๊กโฟร์ อยู่ที่ประมาณ 32,000 บาทต่อเดือน
3. ทักษะที่หลากหลาย:
- ผู้ตรวจสอบภายในจำเป็นต้องมีทักษะที่หลากหลาย เช่น ทักษะการวิเคราะห์ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการบริหารงานโครงการ และทักษะการแก้ปัญหา
- ทักษะเหล่านี้สามารถนำไปใช้ต่อยอดในงานอื่นๆ นอกเหนือจากงานตรวจสอบภายในได้
4. โอกาสเรียนรู้:
- ผู้ตรวจสอบภายในจำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอเพราะต้องตรวจแทบทุกเรื่องตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ความรู้ที่ผมได้รับจากงานตรวจสอบภายในถือว่าเยอะมากเทียบกับความรู้ที่ได้รับจากอาชีพผู้สอบบัญชีหรือไอทีออดิท
- มีหลักสูตรการอบรมและสัมมนาต่างๆ มากมายสำหรับผู้ตรวจสอบภายใน
- การเข้าประชุมกับคณะกรรมการตรวจสอบทำให้เห็นสไตล์การทำงานของผู้บริหาร และได้ดูดวิชาจากผู้ใหญ่
5. โอกาสพบปะผู้คน:
- ผู้ตรวจสอบภายในมีโอกาสได้พบปะผู้คนจากหลากหลายแผนก และได้คุยกับคนแทบทุกระดับชั้นภายในองค์กร
- ผู้ตรวจสอบภายในมีโอกาสสร้างเครือข่ายกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เช่น ผู้สอบบัญชี และที่ปรึกษาขององค์กร
6. โอกาสทำงานต่างประเทศ:
- ผู้ตรวจสอบภายในขององค์กรที่มีบริษัทในเครืออยู่ต่างประเทศ จะมีโอกาสได้เดินทางไปตรวจงานที่ต่างประเทศ แถมยังมีโอกาสได้เที่ยวในวันหยุดด้วย
- หากเคยเดินทางไปตรวจสอบบริษัทในเครือที่ต่างประเทศแล้วผู้บริหารเห็นความสามารถของเรา เราอาจได้รับข้อเสนอให้โยกย้ายตำแหน่งงานไปช่วยงานที่ต่างประเทศได้ด้วย
ความท้าทายของอาชีพผู้ตรวจสอบภายใน
แม้ว่าอาชีพผู้ตรวจสอบภายในจะมีข้อดีมากมาย แต่ก็มีความท้าทายที่ควรพิจารณาเช่นกัน
1. ความเครียดจากงาน:
- งานตรวจสอบภายในมีบางช่วงที่ต้องทำงานล่วงเวลาและมีกำหนดเวลาที่เร่งด่วน
- ในบางองค์กร งานของผู้ตรวจสอบภายในอาจมีความกดดันจากวัฒนธรรมองค์กร เช่น ผู้บริหารระดับสูงอาจใช้อำนาจในการแทรกแซงการทำงานของฝ่ายตรวจสอบภายใน และคณะกรรมการตรวจสอบ ทำให้เกิดสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก
- ความคาดหวังที่สูงของผู้บริหารและผู้มีส่วนได้เสียบางคน ที่มีต่อผู้ตรวจสอบภายใน เช่น คาดหวังว่าผู้ตรวจสอบภายในจะต้องรู้ทุกเรื่องในบริษัท ต้องตอบข้อสงสัยได้ทุกข้อ
- การไม่ได้รับความร่วมมือในกิจกรรมตรวจสอบ ทำให้ได้รับข้อมูลที่จำกัด หรือได้รับข้อมูลช้า
2. ความเสี่ยง:
- การตกงานตอนอายุ35ขึ้นไป มีความเสี่ยงสูงที่จะหางานใหม่ไม่ได้
- การมาของ Generative AI ทำให้ผู้ตรวจสอบภายในที่ไม่พัฒนาตัวเอง หรือใช้ AI ไม่เป็น ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกเลย์ออฟ
- การเข้าถึงข้อมูลที่ละเอียดอ่อนโดยไม่จำเป็น มีความเสี่ยงต่อตัวผู้ตรวจสอบภายในเอง
- การตรวจหน่วยงานในองค์กรที่มีประวัติการทุจริต อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ตรวจสอบภายใน
3. งานงอก:
- ทุกครั้งที่มีการอัพเดทมาตรฐานการตรวจสอบภายในเวอร์ชั่นใหม่ มันมักจะเกิดงานงอกให้ CAE เสมอ เช่น ต้องอัพเดทนโยบาย IA วางแผนกลยุทธ์ เพิ่มเอกสารควบคุมของแผนก เพิ่มกระบวนการทำงาน นัดประชุมกับผู้บริหารแต่ละแผนก นัดประชุมทีม อัพเดทมาตรฐานใหม่ให้คณะกรรมการตรวจสอบและผู้บริหารระดับสูงทราบ ทำ gap analysis และอีกร้อยแปดพันเก้า
- คนที่กำลังจะสอบ CIA ในปี2025 จะไม่สามารถใช้หนังสือหรือตัวอย่างข้อสอบปีก่อนๆ ได้ทั้งหมด เนื่องจากมาตรฐานการตรวจสอบภายในเวอร์ชั่นใหม่กำลังจะถูกบังคับใช้
4. การถูกละเลย:
- มีกรณีการทุจริตคอรัปชันที่เกิดขึ้นในบางบริษัท แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกลับไม่เชิญตัวแทนของผู้ตรวจสอบภายในไปรับฟังความคิดเห็นเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาให้ตรงจุดและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นซ้ำในอนาคต
- มาตรฐานการตรวจสอบภายในของภาครัฐมีการอัพเดทให้เป็นปัจจุบันช้ากว่าภาคเอกชนพอสมควร
และนี่ก็คือทั้งหมดของงานตรวจสอบภายในครับ หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจภาพรวมของอาชีพนี้ได้เป็นอย่างดี
แหล่งข้อมูล:
อาชีพผู้ตรวจสอบภายใน (Internal Audit) ทำอะไรบ้าง?
สั่งซื้ออีบุ๊ค: